กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – ธปท.ออกโครงการ DR BIZ ช่วยลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายกว่า 8,400 ราย ปรับโครงสร้างหนี้ หลังพบปัญหาการประสานงานล้มเหลว
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีเจ้าหนี้หลายรายและต้องการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ประสบปัญหาความล้มเหลวในการประสานงาน และยังพบปัญหาเรื่องของกรอบเวลาการทำงานที่ล่าช้า ส่งผลต่อการตัดสินใจของสถาบันการเงินรายอื่นที่เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งขณะนี้มีลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายวงเงินรวมหนี้ตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท ประมาณ 8,400 คน คิดเป็นเม็ดเงินรวมเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท โดยโครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่งคง จะเป็นการเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหน้าหนี้หลายราย ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานและกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ หรือภายใน 1 เดือน หลังได้รับข้อมูลและเอกสารจากลูกหนี้ครบถ้วน ซึ่งคาดว่าจะมีลูกหนี้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
สำหรับกระบวนการตัดสินใจของเจ้าหนี้ จะกำหนดให้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เป็นหลักในการประสานงานกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินอื่น และเจ้าหนี้จะทำการโหวตร่วมกันในการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ แต่หากเสียงปริ่มน้ำ ทาง ธปท.จะเข้าไปเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยงให้ ซึ่งลูกหนี้ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ DR BIZ จะได้รับการบรรเทาหนี้โดยรวมและลดระยะเวลาติดต่อเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งจะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้หรือความช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยหนี้เดิม อาทิ การลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้ และ/หรือปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมตามศักยภาพของลูกหนี้ มีระยะปลอดหนี้และการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม และทบทวนการให้ใช้วงเงินของลูกหนี้ที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ ธนาคารเจ้าหนี้ร่วมพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีประวัติชำระหนี้ดี มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน
สำหรับระยะแรก จะดำเนินโครงการกับกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย โดยลูกหนี้ธุรกิจทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมวงเงินรวม 50-500 ล้านบาท มีสถานะปกติ หรือเป็น NPL กับธนาคารบางแห่ง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด ต้องไม่ถูกฟ้องคดี ยกเว้นเจ้าหนี้ถอนฟ้อง โดยเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเป็นสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls) ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสมัครเข้าโครงการกับสถาบันการเงินหลักที่ใช้บริการ หรือ สถาบันการเงินแจ้งเชิญลูกหนี้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564
ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนดเดือนตุลาคมนี้ ผู้ว่าแบงก์ชาติยืนยันว่าจะไม่ใช้หลักเกณฑ์ขยายระยะเวลาเป็นการทั่วไป แต่จะใช้กลไกอื่นแทน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องสถาบันการเงินระยะยาว แม้ขณะนี้สถาบันการเงินจะมีความสามารถรองรับการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ก็ตาม .- สำนักข่าวไทย