กรุงเทพฯ 19 ส.ค. -อธิบดีกรมชลประทานนำติดตามสถานการณ์น้ำและกำชับแผนรับมือน้ำหลากภาคอีสาน ย้ำจัดจราจรน้ำช่วงฝนตกต่อเนื่อง ผลักดันน้ำชีลงน้ำโขง โดยหน่วงน้ำมูลไว้ ไม่ให้น้ำปริมาณมากไหลมาถึงจุดบรรจบพร้อมกัน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 และการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกล่าวว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศวันที่ 14 – 20 ส.ค. จะเกิดฝนตกฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนได้แก่ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม จึงกำชับให้สำนักงานชลประทานที่ 5 – 8 บูรณาตามมาตรการบริหารจัดการจัดจราจรน้ำชี-มูล โดยเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว ด้วยการเปิดบานระบายของเขื่อนในแม่น้ำชีทุกแห่งและใช้เครื่องผลักดันน้ำเข้าไปเสริม รวมทั้งชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลโดยการลดบานระบายของเขื่อนราศีไศลลง ซึ่งจะควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบบริเวณด้านเหนือของเขื่อนราศีไศลด้วย หากปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลมาจาก จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์มีมาก จะยกบานระบายทั้งหมดพ้นน้ำทันทีเพื่อลดการเกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ในส่วนของลุ่มน้ำยังที่มีฝนตกชุกนั้น ให้ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันอุทกภัยลุ่มน้ำยัง เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ เพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย รวมไปถึงการจัดจราจรทางน้ำ โดยการตัดยอดน้ำในลำน้ำยัง ลงสู่ลำห้วยวังหลวงและแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ได้วางแผนขุดลอกตะกอนทรายบริเวณฝายบ้านท่าลาด รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชน พร้อมจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อตรวจวัดระดับน้ำในพื้นที่ หากฝนตกต่อเนื่องจนอาจเกิดความเสี่ยงต่างๆ แล้วเร่งบริหารจัดการ ระบายน้ำ และผลักดันน้ำตามแผนที่กำหนดไว้
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ปัจจุบันมีน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 3,568 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่าง โดยเป็นน้ำใช้การได้ 1,956 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 7,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 1,289 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของแผนการจัดสรรน้ำ เพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่ . – สำนักข่าวไทย