กทม. 31 ก.ค. – ทันตแพทยสภา ยืนยันในไทยไม่เคยมีการนำโคเคนมาใช้ในงานด้านทันตกรรมแทนยาชา เพราะมียาชาจากสารสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า และไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่นักเภสัชวิทยาเปิดข้อมูลทางวิชาการระบุ แม้ยาชาและโคเคนจะออกฤทธิ์ทำให้ชาเหมือนกัน แต่โคเคนยังมีสารออกฤทธิ์ทำให้ซึม และติดยา ทำให้ต่างประเทศเลิกใช้ไปตั้งแต่กว่า 150 ปีที่แล้ว
ยาชาเมพิวาเคน เป็นหนึ่งในยาชาหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้ในงานทันตกรรม โดยจะนำมาใช้ป้ายในช่องปาก และฉีดเฉพาะจุดที่ต้องการให้ชา ยาชาชนิดนี้เป็นสารสังเคราะห์ที่นำมาใช้ทดแทนสารโคเคน จากใบโคคา เมื่อกว่า 150 ปีก่อน ที่พบในอเมริกาใต้ เคยนำมาใช้ในงานทันตกรรม เพราะใบโคคามีสรรพคุณช่วยให้ชา แต่กลับมีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตสูง ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ
นายกทันตแพทยสภา ระบุว่า ในอดีตมีการใช้โคเคนในทางทันตกรรมจริง แต่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ส่วนในไทยไม่พบเคยมีทันตแพทย์ใช้โคเคนในงานทันตกรรม อย่างที่พนักงานสอบสวนในคดี “บอส อยู่วิทยา” ระบุกับ กมธ.ว่าสารเบนโซอิลเอคโกนีน ที่พบในโคเคน เกิดจากยาที่ใช้รักษารากฟัน น่าจะเข้าใจผิด เพราะตั้งแต่เกิดงานด้านทันตกรรมในไทย ก็มียาชาจากสารสังเคราะห์ให้เลือกใช้หลายชนิด เช่น ลิโดเคน, เมพิวาเคน, บูพิวาเคน, เอทิโดเคน และอาร์ติเคน
อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลในทางวิชาการถึงความแตกต่างของยาชาจากสารสังเคราะห์ และโคเคน ที่แม้การออกฤทธิ์จะทำให้ชาเหมือนกัน แต่โครงสร้างทางเคมีคล้ายกันแค่ 30% เท่านั้น โคเคนนอกจากฤทธิ์การชาที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่ยังมีสารอื่นที่ออกฤทธิ์ทำให้ซึม และติดยา โคเคนเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยปฏิกิริยาภายในร่างกาย กลายเป็นสารเบนโซอิลเอคโกนีน และหากดื่มสุราร่วมกับโคเคน ก็จะพบสารโคคาเอฟริดีน ซึ่งจะอยู่ในเลือดได้นาน 18-28 ชั่วโมง หลังเข้าสู่ร่างกาย โดยสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะไม่พบในอาหาร และยาชนิดอื่นรวมถึงยาชาที่ใช้ในงานทันตกรรม
ปัจจุบัน “โคเคน” ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยยาเสพติดประเภทนี้มีการเปิดช่องให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น แต่ในทางการแพทย์ไม่เลือกใช้โคเคนในการรักษา เพราะมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย และขณะนี้มีตัวยาชนิดอื่นที่ประสิทธิภาพดีกว่า. – สำนักข่าวไทย