ศูนย์วัฒนธรรมฯ24 ก.ค.-“นพ.ทวีศิลป์-คลับฟรายเดย์-เวทีเพลงเพราะ” คว้ารางวัลเกียรติยศผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์ วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 63 “กรุณา บัวคำศรี-เจนภพ จบกระบวนวรรณ”ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น สถานทูต 19 ประเทศ ร่วมรณรงค์เผยแพร่การใช้ภาษาไทย
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 พร้อมมอบโล่เกียรติยศผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์ดีเด่น มอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติแก่ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย เยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน พุทธศักราช 2563 และ มอบรางวัลเพชรในเพลง พร้อมมอบเกียรติบัตรสถานทูตร่วมรณรงค์เผยแพร่การใช้ภาษาไทย และมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดคลิปสั้น “ชีวิตวิถีใหม่ ภาษาไทยในสื่อออนไลน์”
นายอิทธิพล กล่าวว่า เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ (29 กรกฎาคม 2563) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยคณะอนุกรรมการวันภาษาไทยแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติเหมือนทุกปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ วธ.โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(สป.วธ.) ได้มอบรางวัลเกียรติยศพิเศษให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์ดีเด่น เพื่อยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสามารถใช้ภาษาไทยสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างสร้างสรรค์ โดยมีผู้ที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. 2.รายการเวทีเพลงเพราะ (The Golden Song) สถานีโทรทัศน์ช่องวัน (One 31) และ 3.รายการคลับฟรายเดย์ (Club Friday) สถานีวิทยุเอฟเอ็ม 106.5 เมกะเฮิรตซ์
นอกจากนี้มอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยที่ร่วมกิจกรรมถ่ายทำวีดิทัศน์รณรงค์การใช้ภาษาไทย โดยในปีนี้ถือเป็นปีที่ 4 ที่ วธ.เชิญชวนเอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานทูตแต่ละประเทศเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีสถานทูต 19 ประเทศ ส่งวีดิทัศน์เข้าร่วม ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ นิวซีแลนด์ โปรตุเกส ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา เยอรมนี สเปน โปแลนด์ ซูดาน ศรีลังกา คูเวต จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เผยแพร่และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสริมสร้างความสัมพันธ์ เกียรติภูมิและภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล
พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดคลิปสั้น “ชีวิตวิถีใหม่ ภาษาไทยในสื่อออนไลน์” เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อที่อยู่ในวิถีชีวิตใหม่ จำนวน 10 รางวัล อาทิ รางวัลชนะเลิศประเภทอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้แก่ น.ส.เบญจรัตน์ กวีนันทชัย จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน ได้แก่ น.ส.ปาริชาติ สีหาบุตร โรงเรียนกระดุมทองวิทยา จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น
นอกจากนี้จัดทำเว็บไซต์กิจกรรมงานวันภาษาไทยแห่งชาติ www.pasathai.net หรือ www.ภาษาไทย.net ในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ และข้อมูลข่าวสารผ่านทาง facebook fanpage วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2563 และช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ อาทิ youtube twitter เป็นต้น
ด้านกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ได้มอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยและรางวัลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) ยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ทางภาษา วรรณศิลป์ คีตศิลป์ และนักร้องที่ออกเสียงขับร้องเพลงได้อย่างชัดเจนและถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาไทย โดยในปีนี้มีผู้เข้ารับเข็ม และโล่เชิดชูเกียรติ รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นและผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พุทธศักราช 2563 ดังนี้
1.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย รางวัล ได้แก่ รศ.ชำนาญ รอดเหตุภัย ,รศ.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ และ รศ.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา
2.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 10 รางวัล แบ่งเป็นคนไทย 9 รางวัล ได้แก่ น.ส.กรุณา บัวคำศรี ,นายโกมุท คงเทศ ,นายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ,นายภูสิต ธวัชวิเชียร ,นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ,นางลักษิกา เจริญศรี ,ผศ.สมชาย สำเนียงงาม ,นายสันติภพ เจนกระบวนหัด (เจนภพ จบกระบวนวรรณ) ,ผศ.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร และชาวต่างประเทศ 1 รางวัล ได้แก่ น.ส. จิอิน อง (Ms. Ji-In, Ong)
3.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 4 รางวัล ได้แก่ นายขวัญชัย สุรินทร์ศรี ,นายทองพูล ทองน้อย ,นางประไพ สุริยะมล และนายมงคล รัตนพันธุ์ 4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประเภทบุคคล ได้แก่ นางถนอมวงศ์ สุกโชติรัตน์ ล้ำยอดมรรคผล ,รศ.นวลทิพย์ เพิ่มเกษร และนายยุทธพร นาคสุข และประเภทองค์กร ได้แก่ มูลนิธิดำรงพุฒตาล (อนุรักษ์และพัฒนาภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย) และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
ด้านรางวัลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) จำนวน 19 รางวัล มีดังนี้
1.รางวัลเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วย รางวัลเชิดชูเกียรตินักจัดรายการวิทยุผู้อนุรักษ์เพลงไทยในอดีต (รายการสุขกันเถอะเรา) ได้แก่ น.ส.ดารณี มณีดิษฐ์ ,รางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรสนับสนุนวัฒนธรรมดนตรีไทย ได้แก่ สมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน
2.รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงวัฒนธรรมนำไทย ผู้ประพันธ์ นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงยังมีวันพรุ่งนี้ ผู้ประพันธ์ นายรชต โชติมิตรจตุรผล รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ เพลงสวัสดี ผู้ประพันธ์ นายเทียรี่ สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา (เทียรี่ เมฆวัฒนา)
3.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ เพลงดาราดรุณี ผู้ขับร้อง นายพรพัฒน์ สัมมาวรรณ (พรหมเทพ เทพรัตน์)
รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ เพลงเพ็ญแข ผู้ขับร้อง น.ส.กุสุมา เอื้อเฟื้อ (ผุสดี เอื้อเฟื้อ)
รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ เพลงคอยน้องคืนนา ผู้ขับร้อง นายอาคม พูลลาภ (เติ้น อาคม คำพันธุ์)
รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ เพลงลูกทุ่งท้องถิ่น ผู้ขับร้อง น.ส.ชญาภา พงศ์สุภาชาคริต (บูม ชญาภา)
รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ เพลงนานแสนนาน ผู้ขับร้อง นายเทียรี่ สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา (เทียรี่ เมฆวัฒนา)
และรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง ได้แก่ เพลงเด็กหลังเขา ผู้ขับร้อง น.ส.ณริสสา ดำเนินผล (ฟ้า ขวัญนคร)
สำหรับของที่ระลึกในงาน ทางกรมศิลปากรจัดพิมพ์เป็นหนังสือเก่าหายาก เรื่อง “บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1” เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย .-สำนักข่าวไทย