กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – เอกชนหวังว่าที่ รมว.พลังงานคนใหม่ รายชื่อล่าสุด “สุพัฒนพงษ์” สานต่อ ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชน และเพิ่มเงินอุดหนุนโซลาร์ภาคประชาชน บีซีพีจีปรับเพิ่มเป็นเงินใกล้เคียงกับไอพีพี พร้อมเตรียมร่วมกับชุมชน 30 พื้นที่ สร้าง รฟ.ชุมชน
จากกรณีข่าวล่าสุดว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล หรือจีซี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ด้านชีวมวล) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่ววว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็น รมว.พลังงานก็ตาม กลุ่มพลังงานหมุนเวียนก็คาดหวังจะสานต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะเป็นโครงการที่ดีมาก เปิดมิติใหม่ของโรงไฟฟ้าที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการโดยตรง และหากล้มเลิกจะทำให้วิสาหกิจชุมชนหลายแห่งที่เตรียมแผนงานจะผิดหวัง โดยโครงการนี้ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว และมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งรับทราบมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ 3 ด้าน โครงการนี้ก็เป็น 1 ใน 3 โครงการหลักที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนนำร่องขนาด 3 MW ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการ Quick Win 100 MW ประเภททั่วไป 600 MW
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่มาดำเนินการต่อ คือ เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนและโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ควรปรับปรุงอัตราสนับสนุนให้สูงกว่าปัจจุบันที่ 1.68 บาท/หน่วย โดยควรคิดบนพื้นฐานเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาวกำหนดอัตรารับซื้อไม่ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากคิดว่าโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนเป็นการลดการลงทุนขนาดใหญ่ ส่งเสริมชาวบ้านมีรายได้ ส่งเสริมพลังงานสะอาดแล้ว และต้องการให้ค่าไฟฟ้าไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าหลักแล้วก็อาจจะกำหนดให้อัตราสนับสนุนต่ำกว่าไอพีพีเล็กน้อยก็ได้
นายบัณฑิต กล่าวว่า ในส่วนของงโรงไฟฟ้าชุมชน ทางบริษัทและบริษัทในกลุ่มบางจากฯ ได้ร่วมกันดำเนินการ โดยหารือกับชุมชนต่าง ๆ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เบื้องต้นคาดว่าจะมี 10 โรงไฟฟ้า กำลังผลิตประมาณ 30 เมกะวัตต์ ลงทุน 100 ล้าน/เมกะวัตต์ หรือลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยชาวบ้านจะได้ประโยชน์ทั้งการเข้ามาถือหุ้น มีอาชีพระยะยาวจากการปลูกพืชเชื้อเพลิง ซึ่งจากการคำนวณราคาขายไฟฟ้าประมาณ 5 บาท/หน่วย คาดว่าจะมีผลตอบแทนที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ควบคู่กันไปด้วย
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 10 แห่ง จากจังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และจันทบุรี เตรียมทำหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการ รมว.พลังงาน โดยจะยื่นหนังสือผ่านกระทรวงพลังงานวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค.) ขอให้นายวิษณุ เร่งเสนอ ครม.อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะหากถูกล้มโครงการจะทำให้ชุมชนแต่ละแห่งที่คาดว่าจะมีรายได้จากส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าไม่มีไปด้วย โดยมีการคำนวณว่า 1 โรงไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์/พื้นที่ ชุมชนจะมีรายได้ค่าไฟฟ้า 120 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาสัญญาขายไฟ 20 ปี หรือประมาณ 500,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 20 ปี.-สำนักข่าวไทย