สำนักข่าวไทย 22 ก.ค.- “พล.อ.ประวิตร” ถก กนช ย้ำเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ วางแผนระยะยาว แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบ รวมทั้งการนำงบประมาณไปใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (22 ก.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ เป็นต้นว่า การประชุม กนช.ครั้งนี้ เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 7 คณะภายใต้ กนช. ซึ่งบูรณาการหน่วยงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ภายใต้แผนแม่บทน้ำฯ 20 ปี (ปี 2561 – 2580) ติดตามสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเตรียมการรองรับฤดูฝน ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานผลการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ น้ำที่ผ่านมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบด้วย
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปี 2564 ตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี พ.ศ. 2564 โดยแยกตามมิติงบประมาณ 3 ด้าน คือ ภารกิจพื้นฐาน (Function) ภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ (Agenda) และภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (Area) ดำเนินการโดย 30 หน่วยงาน 10 กระทรวง มีโครงการด้านน้ำทั้งประเทศรวม 27,275 โครงการ และแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติในการจัดทำแผนงานและจัดทำคำของบประมาณในแต่ละปีได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทน้ำฯ ทั้ง 6 ด้านโดยเร็ว รวมทั้งให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการจัดหาน้ำต้นทุนและแผนปฏิบัติการ ปี 2563 – 2566 จังหวัดภูเก็ต โดยแผนระยะสั้นดำเนินการใน 3 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ที่เกิดเป็นประจำทุกปีอย่างเร่งด่วน ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ โครงการบำบัดน้ำเสียมาผลิตน้ำประปา และโครงการระบบสูบผันน้ำ บ้านโคกโตนด – อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ พร้อมเห็นชอบในหลักการแผนบูรณาการอุตุนิยมวิทยาเขตร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์อากาศและภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลทำให้การพยากรณ์อากาศมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยในระยะสั้นมีความแม่นยำมากกว่า 90% ระยะปานกลางมากกว่า 80% และระยะนานมากกว่า 70% รวมทั้งยังให้ความเห็นชอบการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำทั้งระบบด้วย
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบทบทวนเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ซึ่งดำเนินการได้ภายในปี 2566 รวม 557 โครงการ ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานนำโครงการที่มีความจำเป็นเป็นกรอบในการจัดทำแผนงานโครงการเข้าสู่กระบวนการขอรับงบประมาณต่อไป นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเร่งรัดแผนงานก่อสร้าง 14 โครงการสำคัญ ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) อาทิ โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล แผนเริ่มก่อสร้าง ปี 2565-2566 โครงการพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับอุตสาหกรรม แผนเริ่ม ปี 2564-2565 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เครือข่ายผันน้ำ และการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำเดิม เป็นต้น โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ไขปัญหาด้านน้ำเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ดังนั้น ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันขับเคลื่อนให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดเป็นรูปธรรม โครงการใดเมื่อได้รับงบประมาณไปแล้ว ต้องเร่งดำเนินการและติดตามให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ หากโครงการใดติดปัญหาต้องเร่งหาสาเหตุ พร้อมร่วมกันหาแนวทางขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์กับประชาชน รวมถึงให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ในฤดูฝนนี้ ช่วง ส.ค. – ก.ย. หากเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ต้องเร่งแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพยสินของประชาชน
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งน้ำของประเทศเกิดความครอบคลุมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานเชิงพื้นที่ช่วงรอยต่อในการออกฏหมายลูกภายใต้ พรบ.น้ำฯ ที่ประชุมจึงได้ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพิ่มเติมอีก 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดขอบเขต บทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ 2.คณะอนุกรรมการกำหนดรูปแบบและแนวทางการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง และ 3.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนรับผิดชอบ.-สำนักข่าวไทย