ยธ.20ก.ค.-กระทรวงยุติธรรม-กระทรวงแรงงาน ผนึกกำลังฝึกทักษะอาชีพ ให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบ ป้อนตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ชี้ปีที่ผ่านมา ผู้ผ่านอบรมมีงานทำร้อยละ80
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบ ระหว่าง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของกลุ่มผู้ผ่านกระบวนการบำบัดพัฒนาพฤตินิสัยจากกระทรวงยุติธรรม ทั้งงานในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้เมื่อพ้นโทษแล้ว
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะทำหน้าที่ในการแนะนำอาชีพ จัดหาตำแหน่งงาน จัดฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษและให้การรับรองแก่สถานประกอบการในการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ซึ่งมองตลาด แรงงานทั้งในและต่างประเทศ ที่พร้อมรับแรงงานฝีมือด้านต่างๆ ที่ผ่านการอบรม
ที่ผ่านมาทั้ง 2 กระทรวงมีความร่วมมือในการ พัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีผู้ผ่านอบรม 8,084 คน รับการพิจารณารับเข้าทำงานร้อยละ 70- 80 ส่วนในปี2563 มีเป้าหมายในการอบรม1,840คน โดยเน้นการฝึกอาชีพในกลุ่มอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือทั่วไป เช่น งานก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างไฟ เป็นต้น ซึ่งเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ให้โอกาสแก้ผู้ที่เคยกระทำผิด สามารถมีอาชีพมีรายได้ และได้รับโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมอีกครั้งหลังพ้นโทษ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ซึ่งมีความต้องการแรงงานฝีมือ สิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มทักษะด้านภาษาให้ กับแรงงานที่ต้องการจะไปทำงานในต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับแรงงานไทย ซึ่งในเบื้องต้นมีกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ20,000-30,000 ราย แต่คงไม่สามารถฝึกทักษะอาชีพกับกระทรวงแรงงานได้ทั้งหมด จึงได้ให้แนวทางกับกรมราชทัณฑ์ ดึงศักยภาพของผู้ต้องขังที่มีหลากหลายมาช่วยในการฝึกอบรมทักษะที่มีความชำนาญ โดยใช้หลักสูตรของกระทรวงแรงงาน เช่น การดึงผู้ต้องขังชาวต่างชาติที่มีอยู่ในเรือนจำประมาณ 2,000 คน มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมและให้โอกาสแก่ผู้ที่อยู่ในระบบพัฒนาพฤตินิสัย ทั้งผู้ต้องขัง ผู้ถูกคุมประพฤติเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างกระบวนการบำบัด ซึ่งมีจำนวนกว่า 500,000 คน ได้มีโอกาศกลับคืนสู่สังคมในการกลับเข้ามาใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคมอีกครั้ง และลดการกระทำผิดซ้ำ.-สำนักข่าวไทย