เชียงใหม่ 19 ก.ค. – ผอ.สทบ.เตรียมแจงสภาพัฒน์ ดันงบฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน 4 โครงการหลัก หวังยกระดับชุมชน ทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐาน ยกระดับศักยภาพชุมชนเดิม พัฒนาสินค้า เพิ่มช่องทางตลาด เพื่อสร้างรายได้ชุมชน
นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับการจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 24 กรกฎาคมนี้ จากกรอบวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ในส่วนของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ เตรียมชี้แจงแผนลงทุนด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการแรกเตรียมจ้างลูกหลานสมาชิกกองทุนหมู่บ้านสำรวจชุมชนของตนเอง 3 คนต่อหมู่บ้าน จ่ายค่าจ้างตอบแทน 10,000 บาทต่อคน ออกสำรวจให้ครบทั้ง 79,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อให้บุตรหลานที่เป็นนักศึกษาลงพื้นที่เป็นเวลา 3 เดือน ในการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึก จำนวนประชากรในหมู่บ้าน คนพิการ คนชราในชุมชนเป็นอย่างไร การประกอบอาชีพ มีมือถือกี่คน รถยนต์กี่คัน อุปกรณ์ทางการเกษตรอย่างละเอียด ในท้องถิ่นมีศักยภาพอย่างไร มีวัด โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งควรได้รับการพัฒนาอย่างไร มีปัญหาอะไร ขาดแคลนอะไร ต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร เพื่อเข้าไปพัฒนาได้อย่างตรงจุด ข้อมูลดังกล่าวจะต้องนำมาอัพเดททุกปี นักศึกษา หรือบุตรหลานยังช่วยแนะนำปิดงบการเงินกองทุนหมู่บ้าน ช่วยจัดทำแผนงานพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต
โครงการ 2 คือ แผนพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้าน เมื่อสำรวจข้อมูลแล้ว จะพบว่ากองทุนหมู่บ้านใด มีศักยภาพอย่างไร หัวหน้าชุมชนใดเข้มแข็ง หรือมีปัญหาอย่างไร เช่น ศักยภาพวิถีชีวิต ศิลปะท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวชุมชน สินค้าชุมชน การผลิตสินค้า เพื่อนำมาพิจารณายกระดับในชุมชนดังกล่าว
โครงการ 3 คือ การพัฒนาสินค้า ทั้งด้านการผลิต การตลาด การสร้างแรงซื้อขายระหว่างสมาชิกกองทุนหมู่บ้านด้วยกันเอง การค้าผ่านตลาดออนไลน์ หลายช่องทาง เมื่อชาวบ้านเริ่มมีรายได้ จากนั้นจะพัฒนาต่อยอดเพิ่มได้อีกหลายอย่าง
โครงการ 4 คือ การพัฒนาอาชีพเสริม เพราะชาวบ้านมีอาชีพหลักอยู่แล้ว เช่น ปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปี ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ หรือพืชอื่น ๆ อาชีพบริการ หรืออาชีพอื่น จากนั้นช่วงเวลาว่างไม่มีรายได้ จึงมาสร้างอาชีพเสริมหลากหลายประเภท จึงหวังจัดสรรเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน 300,000 บาทต่อกองทุน และจัดสรรให้บางส่วน 50,000 บาท นำสมาชิกหมู่บ้านออกไปดูงานกองทุนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
นอกจากนี้ สทบ.ยังเตรียมจัดรูปแบบการขนส่งชุมชนผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ “คิวหมู่บ้าน” นำร่องทดลองชุมชนคลองนาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เพื่อบริการขนส่งชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านใครมีรถขนส่ง สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกบริการเหมือนกับ Grab แต่บริการครั้งนี้ทำเพื่อบริการในชุมชน โดยเจ้าของรถได้รับค่าธรรมเนียมขนส่ง หากใครต้องการส่งสินค้า หรือรับสินค้า ให้กดเข้าไปใน ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ “คิวหมู่บ้าน” เจ้าของรถในชุมชนใครสะดวกกดรับบริการไปส่งของได้ เตรียมชี้แจงรายละเอียดการให้บริการวันจันทร์นี้.-สำนักข่าวไทย