สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 14 ก.ค. – ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติเรื่องร้องเรียนของ “ศรีสุวรรณ” กรณีอดีต สนช.ที่พ้นจากตำแหน่งไม่ครอบ 10 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการ ป.ป.ช. ระบุ ไม่เข้าหลักเกษณฑ์และอำนาจของผู้ตรวจฯ
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง ตามมาตรา 23 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 กรณีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการและส่งรายชื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี อันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (18) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
นายรักษเกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 23 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยที่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย หมายถึงกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ตาม ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลใช้บังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ
“กรณีนี้เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ไม่ใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้” นายรักษเกชา กล่าว
นายรักษเกชา กล่าวว่า นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. เป็นลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการใช้อำนาจทางบริหารหรือทางปกครองแต่อย่างใด (เทียบเคียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546) ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีมติให้ยุติเรื่องร้องเรียน .- สำนักข่าวไทย