กรุงเทพฯ 13 ก.ค.- รายการที่เกี่ยวกับผีและสิ่งลี้ลับ นอกจากจะหมิ่นเหม่ต่อความเชื่อของผู้คน บางครั้งก็หมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมาย โดยที่คนทำเองก็อาจไม่ตั้งใจ ซึ่งนักกฎหมายได้ให้คำแนะนำบรรดาผู้ทำรายการในแนวนี้ว่าต้องระวังกฎหมายหลายฉบับที่พร้อมจะถูกเอาผิดได้ หากวันใดวันหนึ่งรายการเกิดมีปัญหาขึ้นมา เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นกับรายการช่องส่องผี
“กฎหมายไม่ได้ตาย เพียงแค่หลับอยู่” เป็นคำนิยามที่ วุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายถึงกฎหมายที่ยังไม่ถูกเลิกใช้ แต่พร้อมจะถูกนำมาชี้ประเด็นความผิดได้เสมอเมื่อเกิดปัญหา อย่างเช่นกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับรายการแนวผีรายการหนึ่ง
รายการแนวนี้อาจไม่ได้หมิ่นเหม่เพียงแค่เรื่องความเชื่อ แต่ถ้าไม่ระวัง อาจทำผิดกฎหมายหลายฉบับ หลายมาตรา ตั้งแต่กระบวนการถ่ายทำ จนถึงการนำเสนอ ซึ่งพบว่ามักเป็นความผิดบุกรุก ความผิดโบราณสถานและวัตถุโบราณ และความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียง
ขั้นตอนการถ่ายทำ หากเข้าไปในโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดฐานบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย โบราณสถาน ตาม พ.ร.บโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2504 และหากไปเคลื่อนย้ายส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน จะมีความผิดเพิ่มอีก โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
ส่วนบ้านร้างที่มักตกเป้าหมายของรายการแนวผี อาจยังมีญาติเจ้าของบ้านดูแลอยู่ การเข้าไปถ่ายทำโดยไม่ขออนุญาต ถือเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หากร่วมทำความผิด 2 คนขึ้นไป หรือในเวลากลางคืน โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ในด้านเนื้อหารายการแนวนี้ มักพูดถึงสิ่งลี้ลับ ที่พิสูจน์ได้ยาก หากกล่าวถึงผู้ที่เสียชีวิตในแง่ไม่ดี หรือใส่ความ ผู้เป็นพ่อแม่ ภรรยา หรือลูก สามารถดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทผู้เสียชีวิตได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ส่วนการกระทำอันเป็นการเหยียดหยามแก่สถานหรือวัตถุอันเป็นที่เคารพทางศาสนา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดบอกด้วยว่า บางคนมักอ้างว่ากระทำความผิดเพราะผีเข้า หรือเข้าทรง องค์เทพลง แต่สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ยาก และในทางกฎหมายมักจะรับฟังสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการเปิดรับบริจาคผ่านรายการ หรือสื่อออนไลน์ได้ง่าย ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร 2487 ที่ต้องขออนุญาตนายอำเภอ หรือกรมการปกครอง จึงจะถือว่าถูกกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย