กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – วันนี้ ทีมพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาเปิดเผยข่าวดีเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งผลทดสอบในลิงได้ผลดี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับสูง และคุมเชื้อโควิด-19 ได้ สัปดาห์หน้าเตรียมส่งวัคซีนให้โรงงานผลิตลอตแรก 10,000 โดส ก่อนเริ่มทดสอบในคน เดือน ต.ค.นี้
หลังจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิง เข็มแรก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา และกระตุ้นซ้ำเข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน พบว่า ลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และลิงสามารถคุมเชื้อโควิด-19 ได้อย่างดี ทำให้ความหวังของไทยที่จะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ใกล้เข้ามาทุกที โดยใช้ลิงในการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ทั้งหมด 13 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับวัคซีนโดสสูง 50 ไมโครกรัม จำนวน 5 ตัว กลุ่มที่ 2 ได้รับวัคซีน 5 ไมโครกรัม และกลุ่มที่ 3 ไม่ได้รับวัคซีน ทีมพัฒนาวัคซีน เจาะเลือดเพื่อติดตามผลทุก 15-30 วัน พบว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะวันที่ 45 มีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมาก
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะเลือกวัคซีนตัวที่ดีที่สุด 2 ตัว ส่งไปให้โรงงาน 2 แห่ง ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ผลิตจำนวน 10,000 โดส โดยวัคซีนตัวแรก คือ เนื้อวัคซีน mRNA คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนตัวที่ 2 คือ ไขมันขนาดจิ๋ว หรือตัวเคลือบวัคซีน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากเป็นไปตามแผนจะเริ่มทดสอบในคนระยะแรกไม่เกินสิ้นปี 2563
สำหรับการทดสอบในคน ระยะแรก จะใช้อาสาสมัครประมาณ 75 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 18-60 ปี และอายุ 60-80 ปี เริ่มฉีดจากโดสต่ำสุด คือ 10, 30 และ 100 ไมโครกรัม รอติดตามผลไม่เกิน 1-2 เดือน จึงจะเริ่มทดสอบระยะ 2 ราวต้นปี 2564 โดยใช้อาสาสมัครประมาณ 500-1,000 คน คาดว่าจะสามารถเปิดรับอาสาสมัครทดสอบวัคซีนเร็วที่สุดกลางเดือนกันยายน หรือช้าที่สุดราวปลายเดือนกันยายน
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ความหวังของคนไทยที่จะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในประเทศ คาดว่าประมาณกลางปี 2564 เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ. – สำนักข่าวไทย