สธ.5 ก.ค.- สธ.ยืนยัน ศบค.อนุญาตให้ผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตามเข้ามารักษาพยาบาลด้วยโรคที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ แต่ต้องไม่ใช่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยต้องถือปฏิบัติตามมาตรการของทางการไทย มีผลตรวจยืนยันว่าปลอดโควิดก่อนเข้ามาไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อเข้ามาแล้วต้องมีการตรวจซ้ำอีก 3 ครั้ง และกักตัว 14 วันในสถานพยาบาลทางเลือกที่ร่วมโครงการกับรัฐ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่นำเชื้อมาแพร่ระบาดในไทย
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.63 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีมติเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 ออกมาตรการให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย เข้ามารักษารักษาพยาบาลในประเทศไทยได้ เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศตามนโยบายเมดิคัลฮับ (Medical Hub) โดยในเฟสแรกต้องเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติรักษาต่อเนื่องกับสถานพยาบาลในไทยอยู่เดิม แต่ไม่ใช่กรณีเข้ามาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 โดยต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าเท่านั้น รับเฉพาะที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ จำกัดจำนวนผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน
หลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องแสดงใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้วต้องกักกันตัวในห้อง Isolation ward (ห้องเดี่ยว) ในสถานพยาบาลเดียวกัน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และต้องมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกจำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางมาถึงสถานพยาบาล ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 ของระยะเวลาที่กักกัน ที่สำคัญต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 ต้องมีเอกสารหลักฐานทางการเงินที่แสดงถึงหลักประกันว่าสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกิดขึ้นทั้งหมดเอง และมีเอกสารรับรองหรือใบนัดหมายการรักษากับสถานพยาบาลในไทย
ทั้งนี้ หากแผนการรักษาเสร็จสิ้นก่อน 14 วัน สถานพยาบาลต้องกักกันตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามต่อจนครบ 14 วัน และตรวจยืนยันว่าไม่มีโรคโควิด-19 จึงจะอนุญาตให้ออกจากสถานพยาบาลได้ และอาจอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวไปในพื้นที่ท่องเที่ยวที่กำหนดได้ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ
“ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องดาวน์โหลดระบบติดตามตัวหรือติดตั้งแอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการทุกวัน กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่าตลอดเวลาระยะการรักษาพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยและผู้ติดตามดังกล่าวจะไม่สามารถออกนอกสถานที่กักกันได้ จนกว่าจะมั่นใจกว่าปลอดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันและควบคุมโรค หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงพยาบาลทางเลือก หรือ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ซึ่งเป็นสถานกักกันตัว สามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.hss.moph.go.th และ สอบถามได้ที่สายด่วนกรม สบส.1426” นพ.ธเรศ กล่าว. –สำนักข่าวไทย