กรมอนามัย 3 ก.ค.-กรมอนามัย แนะประชาชนทำบุญตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ขณะที่อาหารกระป๋อง เลือกสภาพดี ไม่บุบและดูวันหมดอายุ สิ่งสำคัญคือสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า เว้นระยะห่างบุคคล ตามที่วัดกำหนดจุด และล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารใส่บาตร
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19ในประเทศไทยที่ดีขึ้นตาม ลำดับ ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาปีนี้คาดว่ามีประชาชนไปทำบุญตักบาตรกันมากขึ้น การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ที่วัดหากไม่คำนึงถึงอาหารที่จะนำมาตักบาตรก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ได้ เนื่องจากอาหารที่ประชาชนนิยมตักบาตรมักเป็นอาหารที่ไม่หลากหลายและประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูง ทำให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกินเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพพระสงฆ์
ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ จึงควรเลือกอาหารที่เป็นเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาวหรือข้าวกล้องผสมข้าวขาว เลี่ยงเมนูอาหารทอด โดยเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง อบหรือยำแทน เพิ่มผักและผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ เป็นต้น
สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ปรุงอาหารเอง ควรเลือกซื้อจากร้านที่มีการปรุงสุก ใหม่ มีการใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือและใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดปลอดภัย ไม่ใช้โฟมเพื่อสุขอนามัยที่ดี
ส่วนการตักบาตรด้วยอาหารกระป๋อง ควรเลือกซื้อกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บุบ โดยเฉพาะตะเข็บหรือรอยต่อของกระป๋องต้องเรียบ ฝาหรือก้นกระป๋องแบนเรียบ ส่วนขอบกระป๋องจะต้องไม่มีรอยรั่วซึม ไม่เป็นสนิม ไม่โป่งนูนเนื่องจากมีแรงดันของก๊าซที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหารภายในกระป๋องและให้ดูฉลากสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรองและมีเลขสารบบอาหารหรือตัวเลขหลังเครื่องหมาย อย ที่สำคัญคือควรเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่ผลิตใหม่ โดยสังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ญาติโยมควรปฏิบัติเมื่อไปทำบุญ คือการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือนั่ง ยืน ตามที่ทางวัดกำหนดจุดให้ใส่บาตร และควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารใส่บาตร หากประชาชนมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ ควรงดการเดินทางไปทำบุญที่วัด .-สำนักข่าวไทย