ทำเนียบฯ 23มิ.ย.-ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายทรมาน-บุคคลสูญหาย เน้นมาตรการป้องกัน-ปราบปราม-เยียวยา หวังช่วยคุ้มครองสิทธิประชาชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมส่งกฤษฎีกาตรวจสอบก่อนยื่นคณะกรรมการประสานงาน สภาฯ พิจารณาต่อ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในป้องกันปราบปราม และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว และเพื่อขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชน
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ความจำเป็นในการตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะปัจจุบันยังมีการกระทำที่ทรมานและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย อีกทั้งยังมีการร้องเรียนสหประชาชาติ โดยเฉพาะประเด็นการงดเว้นโทษให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการกำหนดความผิดบทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันและเยียวยากรณีการกระทำทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย ดังนั้นการตราร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังถือเป็นมาตรการสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมาย เป็นการกำหนดฐานความผิดและการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีการกำหนดมาตรการป้องกัน การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามาตรฐานสากล เช่น การกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งสามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้ รวมทั้งการกำหนดให้ความผิดตาม พ.ร.บ.เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่กรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหาให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดระวางโทษฐานความผิดฐานกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากกรณีผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 300,000 บาท และกรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 400,000 บาท โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายคือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จากนี้จะดำเนินการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้งก่อนส่งให้คณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป.-สำนักข่าวไทย