ศาลายา 23 มิ.ย.-ม.มหิดล เปิดนวัตกรรม “เอไอ- อิมมูไนเซอร์” หุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีนครั้งแรกของไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้นักวิจัยไทย พัฒนาวัคซีนโควิด-19 มาใช้ในประเทศไวขึ้น
ผศ.ดร.จำรัส พร้อมมาศ ที่ปรึกษาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และดร.พร้อมสิน มาศรีนวล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมผู้คิดค้นนวัตกรรมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม หุ่นยนต์เอไอ-อิมมูไนเซอร์ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีนครั้งแรกของไทย เพื่อเร่งสนับสนุนและยกระดับการพัฒนาวัคซีนของไทยสู่ระดับโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล โดยระบบเอไอครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเตรียมการเพาะเชื้อไวรัส การทดสอบ การประมวลผล ระบบภาพ บันทึกผล และวิเคราะห์ผลหรือแนวโน้มได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ลดความเสี่ยงการติดเชื้อและลดภาระขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะเป็นก้าวสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาวัคซีนของศูนย์วิจัยวัคซีนต่างๆ ให้ปลอดภัยและสำเร็จเร็วขึ้น
ผศ.ดร.จำรัส กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 คือ การเร่งพัฒนาวัคซีนให้เร็วที่สุด ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มองว่าการจะแก้ปัญหาคือต้องนำหุ่นยนต์เอไอมาช่วยในกระบวน การทดสอบระดับภูมิคุ้มกันในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดคนในการทำงานซ้ำๆซึ่งเสี่ยงติดเชื้อระหว่างทำงานกว่าร้อยละ30 ทำให้ช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนาวัคซีนไวขึ้น ลดการนำเข้าวัคซีนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
นพ.นรัตถพล กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบ การณ์ในการพัฒนาวัคซีนมายาวนานร่วม 30 ปีที่เห็นผลสำเร็จ คือวัคซีนไข้เลือดออกและปัจจุบันเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งการพัฒนาวัคซีน ต้องเร็ว ถูกต้อง แม่นยำและปลอดภัย ซึ่งเมื่อได้ต้นแบบวัคซีนแล้ว ต้องนำมาทดสอบผู้ทดสอบภูมิคุ้มกันว่าผู้ที่ถูกทดสอบภูมิคุ้มกัน จะขึ้นหรือไม่ หุ่นยนต์ตัวนี้จะมาช่วยย่นเวลาให้เร็ว สร้างความปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้รับการทดสอบ
ดร.พร้อมสิน กล่าวว่า ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนมีรายละเอียดค่อนข้างมาก การศึกษาระดับภูมิคุ้มกัน เป็นขั้นตอนสำคัญการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จตลอดการวิจัยพัฒนา การนำหุ่นยนต์มาใช้จะช่วยลดขั้นตอนความผิดพลาดและช่วยลดภาระการอ่านผล ซึ่งหากใช้นักวิจัยจะใช้เวลานาน
ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมใช้เวลาเพียง 2เดือนในการพัฒนาหุ่นยนต์เอไอ ซึ่งโรคโควิด-19 ก็เป็นตัวกระตุ้นให้พัฒนาเร็วขึ้น ความโดดเด่น คือหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ ซึ่งเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 แขนและหลักการทำงานคล้ายกับนักวัคซีน มีความยืดหยุ่นสูง มีความสามารถในการทำซ้ำได้ดี ทำงานได้ตลอด24 ชั่วโมงโดยไม่พัก หรือเหนื่อยล้า จะทำให้ได้การผลิตวัคซีนได้ในจำนวนมากๆ มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความล้าของบุคลากรนักพัฒนาวัคซีน ซึ่งหุ่นยนต์ทั้ง2ตัวนี้ สามารถนำไปใช้งานได้ทันทีเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของนักวิจัยของศูนย์พัฒนาวัคซีนต่างๆ ซึ่งหากสนใจสามารถติดต่อมาได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เลย
ดร.นริศ หนูหอม รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้งานเอไอเพื่อช่วยให้อ่านผลทดสอบระดับภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้นใช้เอไออ่านผลทดสอบเพียง 1วินาที ได้ผลแม่นยำและความถูกต้องสูง ทำให้สามารถรายงานผลทดสอบเร็วขึ้น สามารถรับมือโรคระบาดอื่นๆได้ในอนาคต .-สำนักข่าวไทย