กทม. 22 มิ.ย. – วันนี้ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 2 ในลิง วัคซีนชนิด mRNA ถือเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ โดยการตัดต่อสารพันธุกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดโรค มากระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งหลังจากฉีดในลิงเข็มแรกไปเมื่อเดือนที่แล้ว พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และระบบร่างกายยังปกติ
นี่เป็นภาพความเป็นอยู่ของลิงแสม ภายในศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บันทึกไว้ 7 วัน หลังพวกมันได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นเข็มแรก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม
การนำวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA มาทดสอบในลิง กำหนดใช้ลิงทั้งหมด 13 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโดสยาต่ำ 5 ตัว โดสยาสูง 5 ตัว และยาหลอก 3 ตัว การฉีดวัคซีนในลิงกำหนดไว้ 3 ครั้ง ระยะเวลาแต่ละครั้งจะห่างกัน 1 เดือน การทดสอบนี้จะพิจารณาหลักเกณฑ์ 4 ข้อ คือความเป็นพิษ ความปลอดภัย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลในการป้องกันโรค
ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า เมื่อตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนตามเกณฑ์มาตรฐานสากลหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเวลา 15 วัน พบว่าระบบสำคัญของร่างกายลิงที่ฉีดวัคซีน เทียบกับกลุ่มยาหลอก พบว่าการกินอาหาร การแพ้บริเวณที่ฉีดวัคซีน ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ระบบสมอง และประสาท ยังไม่พบความผิดปกติ จึงตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ในวันนี้
ส่วนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อครบ 15 วัน หลังฉีดเข็มแรก ทดลองเจาะเลือดลิงไปตรวจในห้องปฏิบัติการ พบว่าลิงในกลุ่มโดสยาสูง 5 ตัว สร้างภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อได้ 4 ตัว กลุ่มโดสยาต่ำ 5 ตัว สร้างภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อได้ 3 ตัว และกลุ่มยาหลอก ไม่พบภูมิคุ้มกัน
ทีมนักวิจัยระบุว่า เมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากนี้ 15 วัน จะเจาะเลือดลิงไปตรวจดูภูมิคุ้มกันอีกครั้ง หวังว่าวัคซีนจะไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสูง เหมือนเช่นในหนูทดลอง ที่พบว่าเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ก็สามารผลิตแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันได้เยอะกว่าเข็มแรกกว่า 100 เท่า
ปัจจุบันในไทยมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 5 โครงการ เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่สามารถนำมาทดลองในลิงได้แล้ว
ขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยยะงการจองโรงงานผลิตไว้ 2 ที่ เช่น โรงงานผลิต mRNA และตัวนำวัคซีนเข้าเซลล์ ซึ่งพร้อมเตรียมผลิตลอตแรก 10,000 โดส และจะนำไปทดลองในคนประมาณเดือนตุลาคม ระยะแรกจะทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มเล็ก 5-10 คน ระยะที่ 2 ทดสอบกับผู้ป่วยจริง 2 ถึง 300 คน และระยะสุดท้าย ทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มใหญ่หลักพันคน
โดสของวัคซีนที่กำหนดจะนำมาใช้ฉีดในคน จะเริ่มต้นตั้งแต่ 50 ไมโครกรัม ถึง 125 ไมโครกรัม ถ้าเป็นไปตามแผนการที่ตั้งเป้าไว้ คาดว่าวัคซีนโควิด-19ชนิด mRNA จะได้ใช้จริงภายในปีหน้า . – สำนักข่าวไทย