กรุงเทพฯ 5 ส.ค. – บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ออกหนังสือชี้แจงการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยี mRNA ฉบับเพิ่มเติมไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเปิดเอกสารลงนามร่วมองค์กรรัฐนำเข้าวัคซีนต่อ ก.ล.ต. ภายใน 7 วัน ยืนยันไม่ได้ทำสัญญาร่วม ก.กลาโหม
บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ออกหนังสือชี้แจงการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยี mRNA ฉบับเพิ่มเติม ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น ประกอบด้วย
- บริษัทฯ “ไม่ได้ให้ข้อมูลการทำสัญญาหรือจะทำสัญญาร่วมกับกระทรวงกลาโหม” ตามที่ได้ชี้แจงไปแล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐ เพื่อร่วมกันนำเข้าวัคซีนจริง โดยจะเปิดเป็นเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้สำนักงาน ก.ล.ต.
- บริษัทฯ ไม่ได้ใช้เงินสด เงินกู้ หรือทรัพย์สินของบริษัทฯ ในการวางมัดจำหรือค่าปรับมัดจำวัคซีน
- วัคซีนจำนวน 20 ล้านโดส ที่ได้มีการเจรจากับผู้แทนจำหน่ายแล้วนั้น ยังไม่มีการลงนามสั่งซื้อจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามระเบียบของรัฐ แต่บริษัทฯ ยังไม่ละทิ้งความพยายาม โดยจำนวนวัคซีน และระยะเวลาการนำเข้าวัคซีนไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ทั้งนี้ แม้บริษัทฯ ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ตามกำหนดของรัฐ แต่เป็นการ “ทำหน้าที่ในฐานะเอกชนและพลเมือง” ที่ไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์การระบาดของโรคที่มีในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้วิกฤตนี้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลในหนังสือชี้แจงนี้ เพราะมีข้อมูลส่วนหนึ่งที่ไม่ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” เมื่อเช้าวานนี้ (4 ส.ค.)
ย้อนกลับไปเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) สรุปประเด็นที่ “หมอบุญ” ให้สัมภาษณ์ มีทั้งกรณีที่ถอดใจเรื่องการนำเข้าวัคซีน เพราะติดอุปสรรคที่ต้องนำเข้าโดยภาครัฐ โอกาสที่จะไม่ได้วัคซีนมีมากกว่า 90% เพราะรอมานานกว่า 3 เดือน ถูกยึดเงินมัดจำ 2 ครั้ง ประมาณ 500-600 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการดีลผ่านตัวแทน (เอเย่นต์) 7-8 ราย ก่อนรวบรวมเป็นจำนวนวัคซีนตามที่เป็นข่าว (20 ล้านโดส)
อย่างไรก็ตาม “หมอบุญ” ไม่ได้เปิดเผยชื่อของหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ติดต่อ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ติดต่อผ่านกระทรวงกลาโหม ตามที่เป็นข่าว ซึ่งกรณีเอกสารที่หลุดออกมานั้น คือ น้องชายของตนเองที่ไปติดต่อกับหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงกลาโหม
ข้อสังเกตหลัก คือ กรณีเรื่องเงินมัดจำหรือเงินค่าปรับที่ “หมอบุญ” ให้สัมภาษณ์ว่าถูกปรับ/ยึดเงินมัดจำไป 2 ครั้ง แต่ในหนังสือชี้แจงของ THG กลับยืนยันว่าไม่ได้ใช้เงินสด เงินกู้ หรือทรัพย์สินของบริษัทฯ วางมัดจำหรือค่าปรับมัดจำวัคซีน จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เงินจำนวนนั้นเป็นของใคร
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเจรจาผ่านตัวแทน (เอเย่นต์) เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัท ไฟเซอร์ ในเยอรมนี เคยออกแถลงการณ์ยืนยันว่า บริษัทฯ ได้ทำการเจรจาซื้อขายวัคซีนกับรัฐบาล หรือองค์กรนานาชาติ เพื่อนำไปใช้ในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันระดับชาติ และเพื่อแก้ไขวิกฤติสุขภาพโลกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากการให้สัมภาษณ์ รวมถึงกรณีที่ ก.ล.ต.ให้ THG และ “หมอบุญ” ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ รวมถึงการเสียเงินมัดจำ 500-600 ล้านบาท จากการผิดเงื่อนไขของสัญญา ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์และโปรดศึกษาข้อมูลของ THG โดยละเอียดรอบคอบ รวมถึงติดตามคำชี้แจงของบริษัทฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังตลาดหุ้นปิด ปรากฏว่า หุ้นของ THG ราคาอยู่ที่ 28.25 บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 8.13% มูลค่าซื้อขาย 200.56 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย