กรุงเทพ 20 มิ.ย.-ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ชี้ชีวิตวิถีใหม่คนไทยเผชิญความเสี่ยงภัยคุกคามทางอาชญกรรมไซเบอร์สูง เหตุจากส่วนใหญ่ใช้ Platformของต่างประเทศ ถูกดึงข้อมูลง่าย แนะรัฐบาลสร้าง ”อธิปไตยทางไซเบอร์”
นายปริญญา หอมเอนก นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวในในการประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน ภัยคุกคามไซเบอร์ ชีวิต(ไม่)ปกติใหม่ ยุคโควิด-19 ที่จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์ ไม่มีพรมแดน กลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และพัฒนาไปเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ คนร้ายใช้วิทยาการที่ก้าวหน้า การจัดการกับปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องไปอาศัยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆตามประเภทของอาชญากรรมอีกด้วย ซึ่งทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนในประเทศต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิด New Normal ทางไซเบอร์ ซึ่งบังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องหันมาใช้โลกออนไลน์เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน
“เครื่องมือทางกฎหมายที่ประเทศไทยมีอยู่ในขณะนี้ คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองระบบโครงสร้างๆต่างให้มั่นคงปลอดภัย ระบบไม่ล่ม ไม่ใช่กฎหมายที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเนื้อหาต่างๆที่ถูกส่งต่อในโลกออนไลน์ อีกหนึ่งฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยปกป้องให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้อื่นนำข้อมูลส่วนตัวที่อยู่ในโลกออนไลน์ไปใช้ประโยชน์ แม้ไทยจะมีเครื่องมือทางกฎหมายที่ดีพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่น่าน่าเป็นกังวล คือไทยไม่มีอธิปไตยทางไซเบอร์ เพราะหากมองในมุมด้านความมั่นคง จะพบว่า พื้นที่ทางไซเบอร์ อยู่นอกเหนือไปจากเขตแดนต่างๆ ทั้ง บก น้ำ อากาศ และอวกาศ หมายความว่า คนไทยกำลังใช้ Platform ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ และเจ้าของ Platform เหล่านี้ สามารถดึงข้อมูลจากผู้ใช้ไปได้มากยิ่งกว่ารัฐบาลไทย และยังมีกลุ่มเว็บไซต์ที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง มีการเข้าถึงข้อมูลเฉพาะต่างๆ และพวกที่นำเสนอเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เป็นกลุ่มที่น่าเป็นกังวล”นายปริญญากล่าว
นายปริญญา กล่าวอีกว่า ข้อมูลเกือบทั้งหมดถูกควบคุมไว้โดย Platform อย่าง Google หรือ Facebook ในขณะที่เทคโนโลยีถูกอัพเกรด แต่ความเป็นมนุษย์กำลังถูกลดความสำคัญลง ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งเพิ่มองค์ความรู้ทางไซเบอร์ให้กับประชาชน
ด้านพ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ชี้ให้เห็นว่าอาชญากรรมไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของประชาชนมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมองอาชญากรด้วยแนวคิดที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะ “อาชญากรทางไซเบอร์” เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรม ผู้ก่อเหตุมีความสามารถสูง ให้คำนิยามใหม่ของอาชญากรทางไซเบอร์ เรียกว่า “Smart โจร” สามารถใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเจ้าหน้าที่ไปหลายก้าว จึงไม่ควรประเมินความสามารถของคนกลุ่มนี้ต่ำเกินไป และยังเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีขอบเขตของประเทศ จึงยากลำบากต่อการติดตาม ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อนมากขึ้น ในแต่ละครั้งต้องไปดูว่ามีสนธิสัญญาระหว่างกันหรือไม่ มีรายละเอียดในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในคดีอาชญากรรมไซเบอร์ ยังเป็นปัญหา เพราะคดีประเภทนี้แทรกซึมไปเกี่ยวพันกับคดีอื่นๆ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นการทำความผิดผ่านระบบของคอมพิวเตอร.- สำนักข่าวไทย