กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – 3 การไฟฟ้าร่วมหาทางออก กรณีเงินช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน ทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขาดสภาพคล่อง กกพ.ประเมินการใช้ไฟฟ้าอาจต่ำกว่าคาด ด้าน กฟผ.ยอมรับอาจเจอปัญหาเงินขาดมือชั่วคราว 1 หมื่นล้าน หากช่วย กฟภ.กรณีให้จ่ายค่าไฟฟ้าช้ากว่าสัญญา
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า ในส่วนการลดค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน 22 ล้านครัวเรือน เพื่อลดผลกระทบในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยเดือนมิถุนายนนี้ก็จะเป็นเดือนสุดท้ายของการลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) ส่วนการลดค่าไฟฟ้า 3 เดือน ( มี.ค.-พ.ค.) เมื่อเทียบกับฐานการใช้ไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ ขณะนี้กำลังให้ 3 การไฟฟ้าสรุปตัวเลขว่ามีอุดหนุนช่วยเหลือประชาชนเป็นวงเงินชัดเจนเท่าใด จากที่ประเมินว่าจะใช้วงเงินรวมกว่า 23,688 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินบริหารไฟฟ้าภายใต้ การดูแลของสำนักงาน กกพ.ซึ่งเดิมคาดว่าหากอุดหนุนตามประมาณการณ์จริงก็อาจจะทำให้เงินขาดไปประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่จากข้อเท็จจริงและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอาจทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่ได้สูงตามคาด จนทำให้เงินอุดหนุนอาจลดลง โดยขณะนี้สำนักงานฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้แจ้งว่าจะจ่ายเงินค่าไฟฟ้าแก่ กฟผ.ล่าช้า เพราะมีปัญหาสภาพคล่องจากโครงการลดค่าไฟฟ้าให้กับภาคประชาชน โดย กฟผ.ได้พิจารณาแล้วพร้อมให้ความร่วมมือ แต่เมื่อ กฟผ.ได้รับเงินล่าช้าก็จะเกิดปัญหาสภาพคล่องแก่ กฟผ.ประมาณ 10,000 ล้านบาท เป็นเวลา 2-3 วัน โดยได้เสนอคณะกรรมการ กฟผ. เพื่อขอทำวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (โอดี) กับธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว แต่คณะกรรมการ กฟผ.เห็นว่าหากทำวงเงินกู้เพิ่มไม่ว่าจะเป็นโอดี หรือรูปแบบอื่น ๆ ก็จะเป็นภาระแก่หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับจะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องระยะสั้น จึงมอบให้ กฟผ.บริหารวงเงินภายใน เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหานี้ไป และนับเป็นความร่วมมือของ 3 การไฟฟ้าที่จะร่วมลดผลกระทบของประชาชน
“กฟผ.พร้อมร่วมมือกับ กฟภ.ในการแก้ปัญหาสภาพคล่องจากการช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน แต่เบื้องต้นขอให้ กฟภ.ช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุดก่อน โดยบริหารภายในให้ขาดสภาพคล่องน้อยที่สุด เพราะหากจ่ายค่าไฟฟ้าแก่ กฟผ.ล่าช้า กฟผ.เองก็จะมีปัญหาเช่นกัน เพราะมีภาระต้องจ่ายต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ค่าก๊าซฯ ตามสัญญา ซึ่งขณะนี้ กฟผ.ก็พยายามบริหารให้ดีที่สุด” นายพัฒนา กล่าว
ก่อนหน้านี้ กฟภ. ระบุว่า เงินที่ต้องดูแลค่าไฟฟ้าภาคประชาชน รวมถึงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะเป็นเงินในส่วนของพื้นที่ กฟภ.23,000 ล้านบาท กระทบต่อสถานะทางการเงิน กฟภ.ในช่วงเดือนพฤษภาคม –กรกฎาคม โดย กฟภ.ซึ่งได้เตรียมจัดทำแผนรองรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว หนึ่งในนั้นคือขอชะลอจ่ายค่าไฟฟ้าแก่ กฟผ.เป็นการชั่วคราว.-สำนักข่าวไทย