อุบลราชธานี 6 มิ.ย.- สำเร็จ! พลิกจุดด้อยสร้างจุดเด่น ชาวนาอำเภอสำโรงปรับวิถีใหม่ทำสวนผสมผสานปลูกทุเรียนหมอนทองบนดินทราย ถือเป็นแห่งเดียวของอุบลฯ สร้างรายได้งามแก่เกษตรกรปีละนับแสนบาท รสชาติหอมหวานไม่แพ้จังหวัดอื่น หน่วยงานรัฐหนุนต่อยอดเพิ่มช่องทางตลาดให้ชุมชน
นายชินวัต ทองปรีชา นายอำเภอสำโรง จ.อุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่เกษตรลงพื้นที่สวนทุเรียนของนายสมัย สายเสน อายุ 63 ปี เกษตรกรบ้านโคกใหม่พัฒนา หมู่ 10 ต.โนนกลาง อ.สำโรง ซึ่งประสบความสำเร็จปรับวิถีชีวิตแบบใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จากการทำนาข้าวมาเป็นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองบนดินทราย และได้ผลผลิตคุณภาพอย่างน่าทึ่ง รสชาติหอม หวาน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน สร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท
นายสมัย เล่าว่า ครอบครัวทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ช่วงวัยหนุ่มนอกจากช่วยปลูกข้าวแล้ว ยังตระเวนไปรับจ้างเป็นคนงานตามสวนผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ และกลับมาทำอาชีพขายรองเท้าตามตลาดนัดกับภรรยา แต่พออายุมากขึ้นสายตาไม่ค่อยดี จึงไม่อยากเสี่ยงขับรถ ส่วนนาข้าวก็เก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง อีกทั้งท้องนาก็เป็นดินทรายปนดินเหนียว ปีหนึ่งต้องรอฟ้าฝนนำน้ำมาปลูกข้าว และยังไม่มีความแน่นอนเรื่องผลผลิตข้าวด้วย จึงตัดสินใจนำเงินที่สะสมไว้ไปซื้อพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง 20 ต้น มาทดลองปลูกในที่นาเมื่อปี 2553 พร้อมนำประสบการณ์ที่ได้ไปทำงานสวนผลไม้ทางภาคใต้มาปรับใช้ปลูกกับดินทราย ตอนแรกก็ถูกเพื่อนบ้านท้วงติง เพราะสภาพดินทรายเช่นนี้ไม่เหมาะกับปลูกทุเรียน
“ได้แบ่งที่นาที่รับสืบทอดมากว่า 22 ไร่ ใช้ทำนา 12 ไร่ อีก 10 ไร่ ปลูกพืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว และผลไม้นานาชนิดทั้งละมุด ลำไย สับปะรด ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง กล้วย รวมทั้งทุเรียน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 3-4 ปี ทุเรียน 20 ต้น เริ่มให้ผลผลิต ผลใหญ่น้ำหนักเฉลี่ยตั้งแต่ 3-5 กิโลกรัม เนื้อหวาน กรอบอร่อย เก็บขายผสมกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย ทุกวันนี้มีต้นทุเรียนเกือบ 300 ต้น”
นายสมัย กล่าวด้วยว่า ปลูกอะไรไม่สำคัญเท่าปลูกทุเรียน เพราะเป็นผลไม้ที่ปลูกยากในดินทราย เริ่มแรกขนดินจากใต้สระน้ำที่มีตะกอนดินของดินเหนียวสะสมทับถมเป็นเวลานานและมีจำนวนมากมาผสมกับดินทรายบนท้องนา แม้มีผลทุเรียนให้เก็บเกี่ยวได้เพียง 1 ใน 3 ของแต่ละปี แต่ก็ทำเงินให้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 300,000 บาท
ด้านนายอำเภอสำโรง กล่าวว่า เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมที่เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกให้ดีขึ้น ถือเป็นสวนทุเรียนแห่งเดียวของอำเภอที่สามารถปลูกบนดินทรายได้ ส่วนการต่อยอดขณะนี้มีเกษตรรายอื่นที่อยู่ใกล้กันเริ่มศึกษาการเพาะปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว พร้อมกันนี้นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้เกษตรอำเภอเข้ามาส่งเสริม เพื่อเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย