พิจิตร 21 มิ.ย. – เกษตรกรพิจิตร เปลี่ยนพื้นที่ปลูกส้มเปลือกบาง มาปลูกทุเรียนแบบยกร่องสวน แก้ปัญหาภัยแล้ง และยังส่งออกได้ยกสวน
เกษตรกรจังหวัดพิจิตร ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ที่แปลงของคุณนงนภัส หงษ์ธนัต อายุ 39 ปี อยู่ที่ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมืองพิจิตร แต่เดิมปลูกส้มเปลือกบาง เมื่อต้นส้มมีอายุมากขึ้น จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียน มีพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และมีสายพันธุ์อื่น เช่น กระดุมทอง หลงลับแล โดยมีพ่อค้าแม่ค้าจากจันทบุรี ระยอง มารับซื้อแบบเหมาไซซ์
การปลูกทุเรียนที่นี่ ปลูกแบบยกร่อง เว้นระยะ ขนาด 8 x 7 เมตร การปลูกทุเรียนแบบยกร่อง สามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี สำหรับต้นทุนการผลิตคิดเป็นต่อปีประมาณ 55,000 บาท ต่อไร่ (รวมถึงค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี) โดยแปลงนี้ได้รับรองมาตรฐาน GAP ทำให้ได้ราคาที่สูงขึ้น หรือสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เนื่องจากเป็นการรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตร โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรให้คำแนะนำ และกรมวิชาการเกษตรจะลงพื้นที่ในการตรวจสอบประเมินแปลงเพื่อให้การรับรองมาตรฐาน GAP ต่อไป
นงนภัส หงษ์ธนัต กล่าวว่า ทดลองปลูกทุเรียนตั้งแต่ปี 2558 ในพื้นที่เดิมซึ่งเป็นสวนส้มเขียวหวาน ยกร่องไว้อยู่แล้ว ทำให้ลงทุนไม่มาก แค่ซื้อพันธุ์ทุเรียน โดยเลือกเป็นพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากตลาดต้องการ มีพ่อค้ามาตัดรับซื้อถึงสวน ทำให้ไม่มีปัญหาด้านการตลาด ส่วนรสชาติ พ่อค้าบอกว่าเทียบเท่ากับทุเรียนทางใต้
นางนงนภัส บอกว่า เกษตรกรที่ต้องการปลูกทุเรียน แนะนำให้ใช้สารชีวภาพ น้ำหมัก ทดแทนสารเคมีบางตัว เพื่อลดต้นทุนการผลิต และควรปล่อยให้ผสมเกสรด้วยธรรมชาติ โดยการปล่อย “ชันโรง” ช่วยผสมเกสรดอกทุเรียน. – สำนักข่าวไทย