กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – กรมวิชาการเกษตรเรียกคืนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า ผลิต จำหน่าย และครอบครอง โดยให้เกษตรกรส่งคืนร้านค้าที่ซื้อมาภายใน 90 วัน หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ สาระสำคัญ คือ ให้ผู้ครอบครองวัตถุอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ พาราควอต พาราควอตคลอไรด์ และพาราควอต บิส เมทิลซัลเฟต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช รวมทั้งคลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอส-เมทิล ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชนำส่งมอบคืนผู้ขายที่ซื้อมาให้เสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน จนถึง 29 สิงหาคม 2563
ส่วนผู้มีใบอนุญาตครอบครองเพื่อขายต้องรับมอบคืนและรวบรวมเข้ากับที่ผู้ขายมีอยู่ด้วย รวมทั้งแจ้งปริมาณการครอบครองและส่งอมบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรภายใน 120 วัน คือ จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2563 สำหรับผู้มีใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าต้องมอบคืนจากร้านจำหน่ายและรวบรวมเข้ากับที่ครอบครองอยู่ จากนั้นแจ้งปริมาณส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรภายใน 270 วัน คือ ก่อนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมแจ้งแผนการเก็บรักษา กำหนดเวลา วิธีและสถานที่ทำลายที่ปลอดภัย เมื่อทำลายแล้วให้ส่งผลการทำลายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ สำหรับผู้ครอบครองต้องจ่ายเงินค่าทำลาย โดยกรมวิชาการเกษตรจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น คำสั่งดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 พฤษภาคม โดยมีมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า คำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ให้เกษตรกรส่งมอบคืนสารเคมีทั้ง 2 ชนิดคืนร้านจำหน่าย แต่ไม่ได้ระบุให้ร้านคืนเงินให้เกษตรกร ถือว่าเป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิ์ของเกษตรกรเนื่องจากขณะที่ซื้อมาใช้ทำการเกษตรทั้งพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นของถูกกฎหมาย แต่ต่อมาคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติทำให้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การที่ไม่ได้กำหนดให้มีการคืนเงินหรือเยียวยาเกษตรกรทั้งที่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการรัฐ จึงไม่ยุติธรรม ดั้งนั้น เมื่อไม่สามารถพึ่งหน่วยราชการใด ๆ ได้เลย กลุ่มเกษตรกรจึงร้องต่อศาลปกครองกลางวานนี้ (27 พ.ค.) ซึ่งศาลรับคำร้องไว้ในสารบบแล้ว โดยหวังว่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย
นายสุกรรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีดังกล่าวได้ แต่หลังจากวันที่ 1 มิถุนายน ขึ้นกับดุลพินิจของแต่ละคนว่าจะทำอย่างไรกับสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา แต่หากเกษตรกรไม่สามารถใช้สารเคมี 2 ชนิดนี้ในการประกอบอาชีพได้ต่อไป ก็จะไม่ยอมให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังมีการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแน่นอน หากกระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศปรับระดับปริมาณสารพิษ ซึ่งเป็นอันตรายทางเคมี (Maximum Residue Limits : MRLs) เพื่อให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารดังกล่าวตกค้าง เช่น แป้งสาลีที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมเค้ก และขนมปังต่าง ๆ นั้น เกษตรกรจะไม่ยอมอย่างแน่นอน หากเกษตรกรใช้ไม่ได้ ก็ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารตกค้างอย่างเด็ดขาด.-สำนักข่าวไทย