สำนักข่าวไทย 23 พ.ค. 63 – ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ในลิงเป็นครั้งแรกในไทย หลังผลทดลองในหนูเป็นที่น่าพอใจ คาดผลการทดสอบจะชัดเจนในเดือนกันยายน
ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ติดตามความคืบหน้าการวิจัย และพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ที่ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังเตรียมนำวัคซีนต้นแบบมาฉีดทดลองในลิง หลังก่อนหน้านี้นำไปทดลองในหนูแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
โดยวันนี้เป็นที่นักวิทยาศาสตร์ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำวัคซีนชนิด mRNA มาฉีดในลิงเป็นเข็มแรก เมื่อเวลา 07.39 น. ที่ผ่านมา บริเวณกล้ามเนื้อขา โดยมีการกำหนดฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน
ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องนำวัคซีนมาทดลองในลิง แม้ก่อนหน้านี้จะทดลองในหนูไปแล้ว เพราะยังต้องทดสอบเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะนำไปทดลองในคน โดยการทดสอบจะพิจารณา 4 ข้อ คือ ความเป็นพิษ ความปลอดภัย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค โดยลิงที่นำมาใช้ทดลองคือลิงแสมเพศเมีย วัยเจริญพันธุ์ อายุ 4-6 ปี ทั้งหมด 13 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่มเพื่อทดลอง คือ กลุ่มโดสยาต่ำ 5 ตัว โดสยาสูง 5 ตัว และยาหลอก 3 ตัว เพื่อเปรียบเทียบผล
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้วางแผนดำเนินการวัคซีนโควิด -19 ไว้ทั้งหมด 3 แนวทาง ตั้งแต่สนับสนุนการวิจัยในประเทศ ร่วมมือกับนานาชาติในการพัฒนา เช่น การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และจับมือกับผู้ผลิตวัตซีนระดับโลก เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด และเพียงพอต่อความต้องการ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันที่สำคัญ เพราะประเทศไทยอาจเป็นหนึ่งที่สร้างความหวังเรื่องการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งภายในเดือนกันยายนคาดว่า จะมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่ทำคู่ขนานไปกับการวิจัยคือ การจองโรงงานผลิตวัคซีน ที่ขณะนี้จองไปแล้ว 2 โรงงาน
ทั้งนี้ปัจจุบันในไทยมีโครงการวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ทั้งหมด 5 โครงการ ในหลายสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA และชนิด mRNA.-สำนักข่าวไทย
📷 ภาพโดย ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิชทีมช่างภาพ สำนักข่าวไทย อสมท