กรมอุตุฯ 17 พ.ค. – กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 18 พ.ค.นี้ และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือน ต.ค.
ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (18 พ.ค.) เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม ในระยะแรกของฤดู ปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม จะมีปริมาณฝนตกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1-2 ลูก ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2564
แม้ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 แต่ปริมาณของฝนจะมากกว่าปีที่แล้ว ขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน วางแผนสำรองน้ำในช่วงที่มีฝนตกน้อย รวมทั้งวางแผนป้องกันผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก
นอกจากนี้ ยังมีประกาศเตือนฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน มีผลกระทบตั้งแต่วันนี้ (17 พ.ค.) ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดยพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน “อำพัน” แล้ว มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้ในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563 ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยตั้งแต่ จ.กระบี่ ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลานี้. – สำนักข่าวไทย