อสมท 6 พ.ค.-เลขาธิการ สพฉ. แนะพบผู้บาดเจ็บ ให้แจ้งสายด่วย 1669 ทันที แม้มีความรู้พื้นฐานก็ไม่ควรช่วยเอง หลังปรากฏคลิปอาสากู้ภัยดัดขาชายขาหักก่อนส่งโรงพยาบาล ชี้เป็นอาสานอกเครือข่าย สพฉ.
หลังมีคลิปแชร์สนั่นโซเชียลคลิปหนุ่มอาสากู้ภัยลุยเดี่ยวช่วยผู้บาดเจ็บสาหัสเหตุรถชนกลางสี่แยกไฟแดงบ้านบ่อ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลา 21.30 น.วันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยอาสากู้ภัยคนในคลิปจับขาทั้งสองข้างที่หักดัดให้ตรงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ก่อนที่ผู้บาดเจ็บจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างผิดวิธีหรือไม่
►วิจารณ์สนั่น! กู้ภัยดัดขาคนเจ็บก่อนส่ง รพ.-สพฉ.สั่งตรวจสอบแล้ว
เรื่องนี้สอบถามไปยัง ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่าหากเกิดเหตุการณ์พบเจอผู้ป่วย หรือผู้บาดเจ็บ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับภาคประชาชน ควรต้องทำ คือ แจ้งสายด่วน สพฉ. 1669 ทันที ต่อมาระหว่างที่รอทีมฉุกเฉิน ควรสังเกตประเมินอาการผู้บาดเจ็บว่ารู้สึกตัวหรือไม่ ถ้าลุกนั่ง โต้ตอบ หรือเดินได้ ไม่น่าห่วง แต่หากคนเจ็บไม่รู้สึกตัว สิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำเด็ดขาด คือ เคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ป่วยให้เจ็บหนักมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่าหากมีความรู้เรื่องการช่วยเหลืออยู่บ้างจะทำได้หรือไม่ นพ.อัจฉริยะ ตอบว่าให้ถามตัวเองหากเป็นญาติพี่น้องเราเจ็บ จะยอมหรือไม่ ที่จะให้คนที่ไม่ใช่ทีมแพทย์ หรือทีมช่วยเหลือที่ไม่ใช่มืออาชีพมาช่วยเหลือคนเจ็บในสถานการณ์ที่มีความเป็นความตายเดิมพันอยู่ตรงหน้า ส่วนของทีมกู้ภัย หากนับเฉพาะในไทยที่มี 2 หน่วยใหญ่ คือ ป่อเต็กตึ๊ง และร่วมกตัญญู ถือว่าตอนนี้ยกระดับมาตรฐานมาสูงมาก แต่กู้ภัยกลุ่มที่น่าห่วง คือ กู้ภัยจิตอาสา อย่างในกรณีที่ปรากฏในคลิป เบื้องต้นจากข้อมูลเป็นจิตอาสานอกระบบเครือข่าย สพฉ. แม้คนกลุ่มนี้จะมีความรู้ในการปฐมพยาบาลอยู่ แต่ความรู้พื้นฐานก็มีการแบ่งระดับการให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน อะไรที่ทำได้อะไรที่ทำไม่ได้ เมื่อกู้ภัยจิตอาสาเจอคนเจ็บ สิ่งที่ควรทำอย่างแรก คือ 1.ประเมินความรู้สึกคนเจ็บว่าเจ็บขนาดไหน 2.หากเจ็บหนักมีอาการหัก เคลื่อน สาหัส ต้องเรียกหน่วย advance หรือ หน่วย สพฉ. 1669 ทันที 3.ระหว่างรอทีมปฐมพยาบาลเท่าที่ทำได้ และสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
และสิ่งที่ห้ามโดยเด็ดขาดสำหรับกู้ภัยทั้งมีสังกัด และจิตอาสา คือ การทำหัตถการ โดยหัตถการทางการแพทย์หมายถึง การรักษาผู้ป่วย โดยมีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆสอดใส่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เช่น การใช้เข็มเจาะน้ำจากช่องปอด การใส่สายสวนหัวใจการฉีดยาเข้าในข้อ การผ่าตัดต่างๆ การเย็บบาดแผล หรือการไปใช้วิธีการเหยียดร่างการที่พับ หรือหัก ก็ไม่ควรเด็ดขาด เนื่องจากการช่วยเหลือที่ถูกต้องตามหลัก จะต้องประเมินสภาพผู้บาดเจ็บ และต้องเข้าช่วยเหลือบริเวณจุดสำคัญต่อชีวิตมากที่สุดก่อน ไล่เลียงตามลำดับ เช่น ศีรษะ หรือคอ และต้องช่วยเหลือในเรื่องระบบหายใจก่อนจนไปถึงแขนขาส่วนที่หัก แต่หากผู้บาดเจ็บอาการสาหัสเกินขีดความสามารถจะต้องแจ้งให้ทีมกู้ชีพฉุกเฉินของโรงพยาบาลในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการปั๊มหัวใจหรือการทำ CPR เนื่องจากมีอุปกรณ์ในรถครบ
ซึ่งในในกฎหมาย มีการกำหนดอำนาจขอบเขตในการปฏิบัติการของแพทย์ไว้อยู่แล้ว กรณีนี้ต้องสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเกิดจากอะไร เพราะมีบทลงโทษกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว พร้อมฝากย้ำไปถึงหน่วยอาสากู้ภัยฉุกเฉินทั้งมืออาชีพ และจิตอาสา สิ่งที่ควรยึดมั่นให้ขึ้นใจเมื่ออยู่ในเวลาปฏิบัติงาน คือ หลัก 3 P
1.Patient Safety ยึดเอาความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง
2.Personal Safety ดูแลความปลอดภัยของตัวเอง คนที่ปฐมพบาลดูแลคนเจ็บ
3.Public Safety ดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของส่วนรวมสาธารณะ เช่น การขับรถ การช่วยเหลือไม่ให้ส่งผลต่อคนหมู่มาก.-สำนักข่าวไทย