ภูเก็ต 3 พ.ค. – การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนทุกหย่อมหญ้า หนึ่งในนั้นคือคนที่ทำอาชีพด้านให้บริการการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดภูเก็ต
ความรู้สึกเป็นทุกข์ของลุงสมชาย ละหวัง ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ตลอดเวลาลุงสมชายพยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหล ดวงตาทั้งคู่เหม่อมองออกไปในทะเล เพราะบัดนี้แหล่งรายได้ที่เคยใช้เลี้ยงปากท้องทั้ง 5 ชีวิตในครอบครัว ได้แต่จอดทอดสมอแน่นิ่งอยู่ริมฝั่งชายหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต จวนจะเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้วจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19
ลุงสมชายเล่าว่า มีอาชีพรับจ้างทำงานอยู่ในบริษัทเรือท่องเที่ยวนนทศักดิ์มารีน มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยกัปตันเรือสปีดโบ๊ท นำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำตามเกาะแก่งต่างๆ ปกติจะมีรายได้ต่อเดือนตกราวกว่า 10,000 บาท พอใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวแต่ก็ไม่ถึงขั้นเหลือเงินให้เก็บออม
มาตอนนี้ทางบริษัทต้องปิดการลงชั่วคราวจึงยิ่งลำบาก แม้นายจ้างจะมีน้ำใจช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อหักลบกับรายจ่าย ซึ่งมีทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูลูกคนเล็กที่พิการ ลูกคนโตที่ต้องมาตกงานก็ยังคงเป็นภาระที่หนักหนาสาหัส
ลุงยอด สามลา ทำอาชีพรับจ้างเป็นกัปตันเรือมานานร่วม 20 ปี ลุงยอดบอกว่ารับจ้างขับเรือมาแล้วเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ลำเล็กๆ กระทั่งปัจจุบันขยับมาขับเรือสปีดโบ๊ท แบบ 3 เครื่องยนต์ รับส่งนักท่องเที่ยวไปยังเกาะเฮ และเกาะราชา เพื่อเลี้ยงดู 4 ชีวิตในบ้าน ตลอดการเป็นลูกจ้างเรือเขาบอกว่า ไม่เคยมีวิกฤติครั้งใดในชีวิตที่รู้สึกอับจนหนทางเท่าครั้งนี้มาก่อน แม้กระทั่งเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่งอันดามันเมื่อปี 2547
ลุงสมชาย ลุงยอด รวมถึงเพื่อนร่วมอาชีพกว่า 100 ชีวิต พวกเขาล้วนเป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคมของบริษัทเรือนำเที่ยวที่รอคอยให้ประกันสังคมจ่ายเงินประกันตนคืนให้ หวังนำเงินก้อนในส่วนนี้มาใช้ต่อลมหายใจในระหว่างที่ยังต้องหยุดงาน
ผู้จัดการบริษัทเรือนำเที่ยวที่พวกเขาทำงาน บอกว่า ได้ยื่นหลักฐานเพื่อขอเงินประกันตนของลูกจ้างคืนต่อสำนักงานประกันสังคมไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม แต่ถึงตอนนี้เรื่องยังเงียบไม่มีความคืบหน้าใดๆ วอนประกันสังคมออกมาชี้แจง และเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนได้รับเงิน ซึ่งเป็นสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย
ที่ผ่านมาธุรกิจการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ต ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 6 ของธุรกิจหลักด้านการท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยปีละหลายหมื่นล้านบาท ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า กระทรวงแรงงานจะเร่งรัดให้ประกันสังคมเข้ามาจัดการกับปัญหาความล่าช้าซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับลูกจ้างจำนวนมากในภาคการท่องเที่ยวเหล่านี้อย่างไร. – สำนักข่าวไทย