กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงส่วนใหญ่ 17 เสียง ลงมติยืนมติแบน 2 สารเคมีอันตราย พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส พร้อมให้กรมวิชาการเกษตรไปหาข้อมูลสารทดแทนในประเทศที่แบนสารเคมีดังกล่าวมาแล้ว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ /2-1 /2563 วันนี้ (30 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย หลังใช้เวลาพิจารณาและมีการอภิปรายข้อมูลต่าง ๆ อย่างกว้างขวางนานกว่า 3 ชั่วโมง ในที่สุดคณะกรรมการฯ ลงมติยืนตามมติเดิม คือ กำหนดให้สารอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 หรือ “แบน” 2 สารดังกล่าว
โดยที่ประชุมวันนี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 24 คน จากทั้งหมด 28 คน จึงมีองค์ประชุมครบ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญหลายเรื่อง และในที่สุดคณะกรรมการฯ ได้มีการลงมติโดยเปิดเผย ซึ่งปรากฎว่า มีคณะกรรมการผู้เห็นด้วย 17 คน ไม่เห็นด้วย 6 คน งดออกเสียง จำนวน 1 คน
ทั้งนี้ นายสุริยะ กล่าวว่า ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหาข้อมูลว่า ประเทศอื่นที่แบนสารอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสมีการใช้สารทดแทนอะไรบ้าง และให้กลับมานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ไป
สำหรับประเด็นการรับรองรายงานการประชุมและการรับรองมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เกี่ยวกับการพิจารณายกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้น ที่ประชุมยืนยันว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่มีการรับรองโดยที่ประชุมถูกต้องแล้ว แต่สำหรับการรับรองรายงานการประชุมนั้น วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณารับรองรายงานอีกครั้งหนึ่ง และมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่รับรองรายงานการประชุมดังกล่าว โดยมีกรรมการบางคนแจ้งขอสงวนสิทธิ์ไม่รับรองรายงาน
นอกจากการพิจารณาเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร ยังได้มีการพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ดังนี้ มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบ/ประกาศ จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ได้แก่ การกำหนดด่านศุลกากรที่นำเข้า-ส่งออก-นำผ่านวัตถุอันตราย การผ่อนผันการปฏิบัติสำหรับการนำกลับเข้ามาหรือการส่งกลับออกไป หลังจากนี้หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะนำไปเสนอรัฐมนตรี หรือ อธิบดีของแต่ละหน่วยงานลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
นางอุมาพร พิมลบุตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับสตอกของสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เดิมมีประมาณ 10,000 ตันในภาพรวมทั้งผู้นำเข้า ร้านค้าต่าง ๆ แต่เชื่อว่าขณะนี้มีการซื้อขายและเกษตรกรนำมาใช้บ้าง จะทราบสตอกคงเหลือชัดเจนในการตรวจสตอกวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ผู้ที่มีจะต้องส่งให้กรมวิชาการเกษตรนำไปทำลายอย่างถูกวิธีต่อไป
“เกษตรกรที่เคยรู้สึกว่าพาราควอตเป็นสารยาสาระพัดนึก ราคาไม่แพง จากนี้ไปจะต้องเลือกใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เจาะจงมากขึ้นตามชนิดของพืช จะต้องมีการปรับตัว” นางอุมาพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังมีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 9 คณะ เพื่อพิจารณากลั่นกรองให้ความเห็น หรือดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร คณะอนุกรรมการควบคุมการโฆษณา เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีหลายองค์กรได้ส่งข้อคิดเห็น ข้อสังเกต ต่อร่างประกาศดังกล่าว ให้นำไปพิจารณาในการประชุมคราวต่อไป.-สำนักข่าวไทย