กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – รมว.เกษตรไทยร่วมรับรองถ้อยแถลงกับ 10 ประเทศภูมิภาคอาเซียน สำรองอาหารให้เพียงพอจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสงบ พร้อมผนึกกำลังหาแนวทางปรับตัวและฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้ภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมรับรองถ้อยแถลงว่าด้วยการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนถึงความมั่นคงด้านอาหาร การผลิตอหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยอาเซียนจะเร่งดำเนินการผ่านสำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (AFSIS) และองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) ให้มีการสำรองข้าวสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเพียงพอ จัดทำข้อมูลการตลาดที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประเมินสถานการณ์และคาดการณ์สถานการณ์อาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลกทั้งด้านการค้า ราคา และคุณภาพ
นอกจากนี้ คณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) จะประสานงานกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้องด้านอาหาร พืช ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ เพื่อสำรองของอาหารพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด น้ำตาล เป็นต้น ก่อนหน้านี้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ณ นครดานัง ประเทศเวียดนามร่วมประกาศ “ถ้อยแถลงการส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19” ได้แก่ การรักษาตลาดอาเซียนที่เปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการค้าดิจิทัลเพื่อเอื้อภาคธุรกิจ การเสริมสร้างความยืดหยุ่นและยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน
ล่าสุดได้ประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม โดยมีจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีเข้าร่วม ซึ่งเป็นการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งทุกประเทศเห็นชอบ “ร่างปฏิญญาและร่างถ้อยแถลงของการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การวางแนวทางรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเตรียมพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและด้านอื่น ๆ ในอนาคต
“ไทยพร้อมจะร่วมมือกับนานาประเทศในอาเซียนพลิกวิกฤติจากการระบาดของโควิด-19 ให้เป็นโอกาสเนื่องจากประเทศในอาเซียนมีความมั่นคงด้านอาหารและมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกสงบลง หลายประเทศจะต้องการอาหารและสินค้าเกษตรหลายชนิดจำนวนมาก จึงต้องเร่งปรับการผลิตและการตลาดให้สอดรับการความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต” นายเฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย