กรุงเทพฯ 29 เมษายน .- ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศแนวทางดำเนินงานกองทุน BSF เพื่อพยุงสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ พร้อมเปิดให้บริษัทที่เข้าเงื่อนไขยื่นขอความช่วยเหลือในกองทุนได้ตั้งแต่วันนี้ ( 29 เมษายน 63) เป็นต้นไป
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการกำกับกองทุน เปิดเผยแนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 กล่าวว่ากองทุน BSF พร้อมเปิดให้บริษัทที่เข้าเกณฑ์ ยื่นขอความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้ (29 เมษายน63) เป็นต้นไป
ซึ่งการจัดตั้งกองทุน BSF ดังกล่าว เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น คล้ายการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ ซึ่งกองทุน BSF จะมีผู้เข้ามาใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ โดยตลาดตราสารหนี้ investment grade เป็นตลาดระดมทุนขนาดใหญ่มีมูลค่ากว่า 3.6 ล้านล้านบาท โดยกว่า 90% เป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ และส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนทั่วไป หรือ การระดมทุนผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ที่ต่ำกว่า investment grade นั้นจะมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) เข้าไปดูแลอยู่แล้ว
ส่วนกรณีระบุว่าหากกองทุน BSF เกิดการขาดทุน กำหนดให้กระทรวงคลังเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยให้ ธปท. ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท นั้น มองว่า เป็นตัวเลขที่วางไว้เผื่อกรณีเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีความเหมาะสมและเพียงพอ โดยหากตัวเลขความเสียหายสูงกว่าที่วางไว้ หรือเกิดสถานการณ์เปลี่ยนแปลง กระทรวงคลังและ ธปท. จะมีการหารือกันอีกครั้ง
สำหรับหลักเกณฑ์ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุน BSF จะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน ต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade โดยกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50%ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด ซึ่งเป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF จะสูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด โดยเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล
ทั้งนี้ กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF จะประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับกองทุน โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน และมี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) , ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 3 คน เป็นกรรมการ โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยง คัดเลือก บลจ. ผู้ดูแลผลประโยชน์ และผู้สอบบัญชี ส่วนคณะกรรมการลงทุน จะประกอบด้วย ธปท. , กบข. , สบน. , และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน ทำหน้าที่ในการคัดเลือกตราสารหนี้ภายใต้กรอบการลงทุนที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด คัดเลือกที่ปรึกษา และรายงานผลดำเนินการให้คณะกรรมการกำกับกองทุนรับทราบอย่างน้อย ทุก 3 เดือน .- สำนักข่าวไทย