ป.ป.ส. 26 เม.ย.-ป.ป.ส.แจง 6 เดือนตรวจยึดลักลอบนำเข้าพืชกระท่อมสูงถึง 2 หมื่นกิโลกรัม มีผู้ถูกจับ 1.6 หมื่นคน และผู้เข้าบำบัดรักษาปีละกว่า 5,000 คน
นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ…..ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้นสถานะของพืชกระท่อมยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 การผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง และเสพยังผิดกฎหมาย
ขณะที่ปัจจุบันหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ยังคงจับยึดพืชกระท่อมอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองร่วมกับทหารได้ยึดพืชกระท่อม 603 กิโลกรัม ในรถกระบะจอดทิ้งไว้ในสวนยางพาราพื้นที่บ้านนา หมู่ 5 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ชายแดนไทย-มาเลเซีย
ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการปิดชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.63 มีรายงานการจับยึดพืชกระท่อมที่ลักลอบนำเข้าจากมาเลเซียถึง 10 ครั้ง รวม 2,394 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นการจับยึดได้ในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งจากภาพรวมพบการลักลอบนำพืชกระท่อมเข้าในปีงบประมาณ 2562 รวม 30,915 กิโลกรัม ส่วนปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62 – มี.ค. 63) เพียง 6 เดือน สูงถึง 21,809 กิโลกรัม
สำหรับการจับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม พบว่าในปีงบประมาณ 2562 มีผู้ถูกจับในคดีพืชกระท่อม 16,663 คน หรือร้อยละ 4.32 ของผู้ถูกจับในคดียาเสพติดทั้งหมด
นอกจากนี้พบว่ามีผู้บำบัดรักษาจากการเสพพืชกระท่อม 5,252 คนร้อยละ 2.25 ของผู้เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั้งหมด ในจำนวนนี้มีอาการทางจิต 526 คนหรือทุก 100 คนจะมีอาการทางจิต 10 คน เกิดจากการดื่ม 4 คูณ 100 หรือน้ำต้มพืชกระท่อมผสมยาแก้ไอ หรือยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจำนวนมาก ต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งแม้จะมีการปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถเสพ หรือผสมปรุงแต่งพืชกระท่อมในลักษณะนี้ได้แต่อย่างใด ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวอีกว่า ในทางวิชาการพืชกระท่อมเป็นพืชถิ่นพบในบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชยืนต้นขนาดกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูงประมาณ 10-15 เมตร อยู่ในตระกูล Rubiaceae มีชื่ออื่นๆ เช่น ท่อม อีถ่าง กระทุ่มโคก กระทุ่มพาย ขึ้นได้ดีในประเทศเขตร้อนทั่วไป พืชกระท่อมมีสารมิตรากัยนีน (Mitragynine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง หากใช้ในปริมาณสูงมีฤทธิ์กดระบบประสาท
ในทางการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านใช้เป็นสูตรตำรับยา มีสรรพคุณลดอาการปวดกล้ามเนื้อ แก้ปวด ลดไข้ ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ยับยั้งอาการท้องเสีย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น หากนำมาทำยาแก้ปวดจะมีผล ข้างเคียงน้อยกว่าเมทาโดนและมอร์ฟีน แต่ถ้าหากรับประทานพืชกระท่อมติดต่อกันเป็นเวลานาน จะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพและอาจเสพติดได้ ดังนั้น การปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ จึงมุ่งหวังที่จะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจให้ประเทศ และสามารถใช้ในรูปแบบการบริโภคตามวิถีชาวบ้านได้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเสพพืชกระท่อมกันอย่างเสรีโดยเฉพาะในรูปของ 4 คูณ 100 .-สำนักข่าวไทย