กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – รฟท.ลงนามสัญญามอบบริษัท ฟิกท์แอสโซซิเอท จำกัด เป็นที่ปรึกษาจัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดเสร็จภายใน 720 วัน ภายใต้กรอบงบประมาณ 314 ล้านบาท
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาจัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารทรัพย์สินของรฟท.กับบริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด
นายวรวุฒิ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของ รฟท. เพื่อนำองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ ประการแรก เพื่อสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่น ๆ ในเขตที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ตั้งพร้อมรายละเอียด รวมถึงนำเข้าข้อมูลขอบเขตที่ดินของการรถไฟฯ โดยการปูระวางที่ดิน เพื่อนำมาจัดทำฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ประการที่ 2 เพื่อให้การบริหารสัญญาเช่าที่ดินและทรัพย์สินของการรถไฟฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถติดตามตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของการรถไฟฯ อย่างเป็นระบบ ครบถ้วน สมบูรณ์ รวมถึงเกิดความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เช่าและผู้ที่เกี่ยวข้อง และประการสุดท้าย คือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ของการรถไฟฯ และเป็นข้อมูลสนับสนุนให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์ ประเมิน และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนาในอนาคต เป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อการบริหารจัดการทรัพย์สินของ รฟท. ต่อไป
นายสุชาติ ศรีวรางกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิกท์ กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด เปิดเผยว่า ทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ซึ่งจากข้อมูลที่ดินของ รฟท.ทั่วประเทศจำนวน 234,976 ไร่ แยกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. พื้นที่เขตทางร้อยละ 80.68 ของที่ดินโดยรวม กลุ่มที่ 2 พื้นที่อื่นที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ มีสัดส่วนร้อยละ 15.45 กลุ่มที่ 3 พื้นที่ย่านสถานี (วางราง) คิดเป็นร้อยละ 2.27 กลุ่มที่ 4 พื้นที่บ้านพัก/ที่ทำการ ร้อยละ 1.6 และกลุ่มที่ 5 เป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ทั่วทั้งประเทศกว่า 40,000 กว่าไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายที่บริษัทจะต้องลงสำรวจแผนที่ภูมิศาสตร์โดยละเอียด รวมทั้งดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อให้เสร็จในกรอบเวลา 720 วัน
“การทำฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการบริหารทรัพย์สินของ รฟท. ทั่วประเทศกว่า 200,000 ไร่นั้น บริษัทฯ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนงานหลัก คือ ส่วนงานที่ 1 งานจัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ส่วนงานที่ 2 งานจัดทำฐานข้อมูล ผู้เช่า ผู้ใช้สิทธิ และส่วนงานที่ 3 งานพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพย์สินและสัญญา โดยบูรณาการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครบถ้วนสมบูรณ์ ตามรายละเอียดของแต่ละส่วนงาน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟ เพื่อจัดเก็บระบบฐานข้อมูลดิจิทัลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และทันสมัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การบริหารทรัพย์สินของ รฟท.ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด” นายสุชาติ กล่าว.-สำนักข่าวไทย