ทำเนียบฯ 23 เม.ย.-ศบค.เผยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 13 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ชี้วัยทำงานติดเชื้อมากที่สุด แต่ผู้สูงอายุเสียชีวิตมากที่สุด ขอการ์ดอย่าตก ตำรวจลดการตั้งด่าน เพิ่มสายตรวจในชุมชนแทน ขอชาวมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามประกาศของจุฬาราชมนตรี
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่าวันนี้ (23 เม.ย.) ไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 13 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,839 ราย รักษาหาย 2,430 ราย รักษาตัวอยู่ 359 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิต รวม 50 ราย โดย ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็น หญิงไทย อายุ 78 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคหลอดเลือดสมอง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ด้วยอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ เมื่อ 24 มีนาคม เริ่มมีอาการไข้และปอดบวม ส่งตรวจพบยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 เมษายน ต่อมาอาการแย่ลงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุติดเชื้อในกระแสเลือดและภาวะหายใจล้มเหลว
โฆษก ศบค. กล่าวว่า คนกลุ่มใหญ่ที่เสียชีวิต เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนกลุ่มคนที่ติดเชื้อมากที่สุดอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งคนที่เสียชีวิตมากที่สุด ไม่ใช่กลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุด แต่คนติดเชื้อน้อยกลับกลายเป็นผู้ที่เสียชีวิตมาก ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ลดลงมาก จากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด 188 ราย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ถือว่าวันนี้ทำคะแนนได้อย่างดี แต่ขอการ์ดอย่าตก เพราะในบางประเทศตัวเลขกลับมาเพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 13 ราย พบว่ามาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 5 ราย คนไทยกลับจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุมชน 1 ราย อาชีพเสี่ยง 2 ราย ตรวจก่อนทำหัตถการ 1 รายและการค้นหาเชิงรุกที่จังหวัดภูเก็ต 3 ราย
ส่วนผู้ป่วยสะสม 2,839 ราย พบใน 5 จังหวัดที่สูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,454 รายและมีอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 3 ราย ภูเก็ต 197 ราย นนทบุรี 152 ราย สมุทรปราการ 109 ราย ยะลา 95 ราย และอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย และเมื่อจำแนกอัตราป่วยต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยไม่รวมผู้ป่วยที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ พบว่า จังหวัดภูเก็ต มีผู้ป่วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.65 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 25.64 ยะลา ร้อยละ 17.78 ปัตตานี ร้อยละ 10.95 และนนทบุรี ร้อยละ 12.10
มี 10 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานการรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทองและสตูล
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า จำนวนผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในคลินิก ของพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า ช่วง 15 – 21 มีนาคม มีผู้ป่วยเข้ามาตรวจ 998 ราย พบติดเชื้อ 46 ราย / 22 – 28 มีนาคม ตรวจ 666 ราย พบติดเชื้อ 14 ราย และช่วง 12 – 17 เมษายน ตรวจ 682 ราย พบ 6 ราย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการตรวจในเชิงตั้งรับขณะนี้ไม่เห็นผลมากนัก เพราะแม้จะมีการตรวจจำนวนมาก ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะพบการติดเชื้อมาก ทั้งนี้ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองจึงเป็นต้นแบบในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน ในเขตบางเขนและเขตคลองเตยเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ โดย ระหว่างวันที่ 15- 22 เมษายน ได้ตรวจรวม 1,876 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย
ขณะที่สถานการณ์โลกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 2,634,529 ราย เสียชีวิต 184,021 ราย สหรัฐอเมริกาพบติดเชื้อมากที่สุด 848,115 ราย เสียชีวิต 47,639 ราย ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 56 ของโลก
นอกจากนี้ มีผู้ฝ่าฝืนการประกาศเคอร์ฟิว โดยมีประชาชนออกนอกเคหสถาน 617 ราย รวมกลุ่มชุมนุมและมั่วสุมจำนวน 106 ราย โดยตั้งแต่มีการประกาศเคอร์ฟิว 3- 23 เมษายน พบว่ามีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 16,179 และชุมนุมมั่วสุม 1,835 ราย
ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า ขณะนี้ได้ลดจำนวนด่านลง เนื่องจากผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่บนถนน แต่กระทำผิดในชุมชน จึงได้เพิ่มตำรวจสายตรวจแทน เพื่อเข้าไปดูแลตรวจสอบ และหากประชาชนพบเบาะแสในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 สามารถโทรแจ้งที่หมายเลข 1599 และ 191
อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีเที่ยวบินคนไทยที่ตกค้างกลับไทย จาก ประเทศตุรกี 55 คน เป็นนักท่องเที่ยวนักเรียนและนักศึกษา จากมาเลเซีย 144 คน เป็นคนงานและคนไทยตกค้าง ส่วนวันที่ 24 เม.ย. กลับจากญี่ปุ่น 31 คน เป็นคนไทยตกค้างและอินเดีย 171 คน เป็นพระภิกษุ แม่ชีและผู้ปฏิบัติธรรม โดยทางมหาเถรสมาคมได้อนุโลมให้พระสงฆ์ อาศัยอยู่ในโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักตัวที่รัฐจัดไว้ให้ เนื่องจากมีเหตุจำเป็น
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึง ประกาศของจุฬาราชมนตรีเมื่อวันที่ 14 เมษายน เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ ศักราช 1441 (พ.ศ.2563) ฉบับที่ 4/2563 เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิม โดยเฉพาะการถือศีลอด ให้ถือปฏิบัติตามปกติที่บทบัญญัติศาสนากำหนดยกเว้นผู้ที่ได้รับผ่อนผันตามหลักการศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มิได้เป็นอุปสรรคให้งดการถือศีลอดแต่ประการใด ตลอดจนการกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษอาหารที่อยู่ในช่องปาก ก็มิได้ทำให้การถือศีลอดบอกพร่องแต่อย่างใด กลับเป็นการรักษาร่างกายและลำคอให้ชุมชื่นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ควรถ่มน้ำลายในสถานที่สาธารณะโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อในสภาวการณ์ปัจจุบัน และให้งดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด เคหะสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ หากมีความประสงค์ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้านและจะเอาใส่ภาชนะบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ แล้วแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทนการจัดเลี้ยงที่มาร่วมกันเป็นหมู่คณะ.-สำนักข่าวไทย