ภูเก็ต 22 เม.ย.- การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกสาขาอาชีพ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต เช่น ธุรกิจปางช้าง ก่อนหน้านี้เคยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมสัมผัสกับวิถีชีวิตของช้างไทยก็กำลังได้รับความเดือดร้อนทั้งคนและช้าง
พรายสุรัก พร้อมด้วยเพื่อนช้างอีกหลายเชือก ทั้งทับทิม สายดี อะเดล กำลังดำผุดดำว่ายและเล่นน้ำอย่างมีความสุข โดยมีควาญช้างคอยช่วยนวดตัวและแปรงหลังให้เป็นระยะ ช้างทั้งหมดนี้อาศัยอยู่ในปางช้าง เอเลเฟ่นท์ เฟมิลี่ ภูเก็ต ตั้งอยู่ในตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง ที่นี่เป็นหนึ่งในปางช้างของภูเก็ตที่ต้องปิดตัวลงชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์เกาะภูเก็ตเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่
สมศักดิ์ เติมศักดิ์ ควาญช้างเก่าแก่ของที่นี่ บอกว่า ปกติช้างทั้ง 12 เชือก ในปางแห่งนี้ จะคุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดี เพราะแต่ละวันที่นี่จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวเอเชียและยุโรปนับร้อยคน เดินทางมาเที่ยวชมและให้อาหารช้าง ดังนั้นเมื่อปางช้างปิดให้บริการจึงยิ่งต้องดูแลช้างให้ดีมากขึ้น นอกจากจะต้องพาช้างเล่นน้ำทุกวันแล้ว ช่วงเช้าจะต้องพาช้างเดินออกกำลังกาย และหาหญ้ากินตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันช้างเครียด
ด้าน สุชาดา เสนาวงค์ษา เจ้าของปางช้าง เล่าว่า ตอนนี้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งจากการที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 40 ชีวิต และช้างอีก 12 เชือก เป็นเงินรวมกันหลายแสนบาทต่อเดือน ที่ผ่านมาพยายามอดทนสู้เพื่อก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
แต่ยอมรับว่าหากภูเก็ตขยายเวลาการล็อกดาวน์พื้นที่ออกไปหลังจากวันที่ 30 เมษายนนี้ ก็รู้สึกเป็นกังวลเรื่องอาหารช้าง ที่ผ่านมาการนำเข้าอาหารช้างจำพวกหญ้าและต้นสับปะรดจากจังหวัดพังงา มายังภูเก็ต มีความยากลำบากมาก จึงอยากวิงวอนเจ้าหน้าที่ให้ช่วยผ่อนปรนขั้นตอน เพื่อให้การนำเข้าอาหารช้างทำได้ง่ายขึ้น ป้องกันช้างอดอยาก เนื่องจากตอนนี้ ทางปางช้างต้องอาศัยอาหารจากมูลนิธิช้างที่บรรทุกมาส่งให้เป็นหลัก
ส่วนการดูแลพนักงานซึ่งมีกว่า 40 ชีวิต ในช่วงผลกระทบโควิด-19 เจ้าของปางช้างบอกว่า เน้นการอยู่อาศัยแบบพึ่งพากัน ทางปางช้างดูแลเรื่องอาหารการกินและที่พักให้แก่พนักงาน ส่วนพนักงานคนอื่นๆ นอกเหนือจากควาญช้าง ก็จะเปลี่ยนมาช่วยกันลงแรงปลูกผักสวนครัวสารพัดชนิดไว้กินเองเพื่อช่วยลดรายจ่าย เนื่องจากการช่วยเหบือเยียวยาจากภาครัฐยังเข้าไม่ถึง
ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวราว 100 แห่ง มีข้อมูลว่าแต่ละแห่งต้องปรับตัวเพื่อให้ช้างและคนอยู่รอด ที่สำคัญคือเริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องอาหารช้างเช่นเดียวกัน. – สำนักข่าวไทย