ภูเก็ต 1 มี.ค. – ข่าวคุณหมอในภูเก็ตออกมาระบุว่าถูกชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและยังเป็นเจ้าของธุรกิจปางช้างในภูเก็ตทำร้ายโดยการใช้เท้าเตะเข้าที่หลัง พูดจาในลักษณะเหยียดคนพื้นถิ่น โดยอ้างตำรวจยศใหญ่ในพื้นที่ แม้ล่าสุดจะออกมายกมือไหว้ขอโทษและบอกว่าเป็นอุบัติเหตุสะดุดล้มไม่มีเจตนา แต่สังคมยังคงพากันตั้งคำถามต่อไปถึงเรื่องมูลนิธิอนุรักษ์ช้าง
เอกสารแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิดูแลช้าง ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ปรากฏชื่อกรรมการของมูลนิธิ 5 คน โดยมี นายอูร์ส ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นประธาน และมีนางคนึงนิจ ภรรยาเป็นรองประธานกรรมการและเหรัญญิก โดยเริ่มต้น มูลนิธิมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง ก่อนจะแจ้งย้ายสถานที่มา ตำบลป่าคลอก เมื่อ 20 พ.ย 66 ระบุวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือ ดูแล รักษา เยียวยาช้างที่ได้รับบาดเจ็บการใช้แรงงาน ให้ความรู้ด้านการเลี้ยงดูช้างอย่างถูกวิธีแก่ควาญช้าง โดยไม่แสวงหาผลกำไร มีทุนจดทะเบียนแรกตั้งจำนวน 5 แสนบาท โดยใช้รูปหัวช้าง เป็นเครื่องหมายของมูลนิธิ ตามข้อความที่ปรากฏในเอกสารการจดทะเบียนว่า รูปหัวช้างที่มีอาการเศร้าหมองเนื่องจากถูกบุคคล หรือผู้ใดบีบบังคับให้ใช้แรงงาน หรือไม่เหมาะกับชีวิตของช้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบ พบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า รูปเครื่องหมายหัวช้างของมูลนิธิ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไรนี้ เป็นโลโก้แบบเดียวกับโลโก้ปางช้างของบริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจเพื่อประกอบธุรกิจนำเที่ยว และกิจกรรมการแสดงโชว์นันทนาการ ทำให้สังคมยิ่งตั้งข้อสงสัยถึงความเชื่อมโยงระหว่างมูลนิธิกับบริษัท ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
ประธานมูลนิธิ พร้อมด้วยภรรยาชาวไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนวันนี้ ขณะที่เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอโทษแพทย์หญิงธารดาว ว่าปัจจุบันมูลนิธิที่จัดมาตั้งแต่ปี 64 ไม่เคยเปิดรับบริจาคเงิน และปัจจุบันมูลนิธิไม่มีช้างอยู่ในความดูแลแม้แต่ตัวเดียว เมื่อทีมข่าวตรวจสอบ ก็พบว่างบการเงินที่ทางมูลนิธิแจ้ง ไม่มีรายรับใดๆ เข้ามาเลยนอกจากทุนจดทะเบียนครั้งแรก 500,000 บาท ทำให้เป็นข้อสังเกตว่า เป็นความผิดปกติหรือไม่
เมื่อสอบถามว่าหลังจัดตั้งมูลนิธิ จนถึงปัจจุบันได้มีการเข้าไปช่วยเหลือดูแลช้างอย่างไรบ้าง ทั้งคู่ให้คำตอบว่าที่ผ่านมาได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลช้างป่วยในภูเก็ตโดยตลอด แต่ใช้เงินของบริษัทเข้าไปดำเนินการ ยิ่งทำให้เป็นข้อสังเกตเพิ่มขึ้นว่าบริษัทและมูลนิธิแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่
อดีตเจ้าของช้างที่อ้างว่าเคยเป็นลูกจ้าง อยู่ภายในปางช้างแห่งนี้ ติดต่อผ่านศูนย์ข้อมูลภูเก็ตมายังสำนักข่าวไทย เพื่อเรียกร้องขอให้ส่วนราชการตรวจสอบว่าบริษัทที่เปิดทำธุรกิจปางช้างแห่งนี้มีการใช้ชื่อของมูลนิธิเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้กับการทำธุรกิจปางช้างหรือไม่โดยเธอ ให้ข้อมูลว่าตัวเองเป็นอดีตลูกจ้างในปางช้างนี้ โดยตอนนั้นเธอและแม่มีช้างจำนวน 3 เชือก ให้บริการอยู่ในปางช้างแห่งนั้นเมื่อปี 61 แต่ต่อมาถูกไล่ออกเพราะช้างของเธอท้องแก่ทำงานไม่ได้ เธอจึงจำเป็นต้องพาช้างระหกระเหินออกจากปางช้างแห่งนั้นเพื่อกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดบุรีรัมย์
ซึ่งการกระทำดังกล่าวเธอบอกว่า ผิดวิสัยของคนที่บอกว่ารักช้าง ทำงานด้านการอนุรักษ์ช้าง โดยเธอยังให้ข้อมูลว่า ทางปางช้างใช้ลูกชายที่เป็นตำรวจใน สภ.ถลาง ภูเก็ต เข้ามากดดันให้เธอต้องออกจากที่นั่นแต่ที่ไม่ได้แจ้งความเพราะเกรงกลัวอิทธิพล
การเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในจังหวัดภูเก็ตนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น และลุกลามไปถึงกิจการบางประเภทที่ถูกสงวนไว้กับคนไทยด้วย การตรวจสอบการทำธุรกิจของชาวต่างชาติในภูเก็ต จึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องเร่งทำอย่างจริงจัง รวมถึงต้องตรวจสอบไม่ให้มีการนำหรือใช้มูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นแบบไม่แสวงหาผลกำไรเข้า ไปมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการทำธุรกิจด้วย.-สำนักข่าวไทย