กทม.22 เม.ย.-องค์กรเด็กเสนอรัฐบาลเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า จาก 600บาทต่อเดือน เป็น 2,000 บาทต่อเดือน จนกว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะบรรเทาเป็นเวลา 1 ปี
นางสุนี ไชยรส อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นตัวแทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กร อ่านจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอ “ปกป้องดูแลเด็กเล็กในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า”
นางสุนี กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด อายุ 0-6 ปีเดือนละ 600 บาทแก่เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน โดยมีการลงทะเบียนและคัดกรองรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แม้จะมีข้อดีกว่าเดิมจากที่จำกัดเฉลี่ยรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 36,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตามข้อมูลเด็กอายุช่วง 0-6 ปีในประเทศไทยมีประมาณ 4 ล้านคน มีเด็กที่พ่อแม่ลงทะเบียนและได้รับเงินแล้วประมาณ 1.3 ล้านคน ผลจากการวิจัยพบว่าจำนวนนี้ยังมีอัตราตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายยากจนร้อยละ 30 คือเด็กแรกเกิดยากจนร้อยละ 30 ไม่ได้รับเงิน สาเหตุมาจากความยุ่งยากเอกสาร ความเข้าใจผิดของพ่อแม่และเจ้าหน้าที่ ซึ่งภาวะตอนนี้ 4 ล้านคนได้รับผลกระทบ ตกอยู่ในภาวะลำบาก เด็กอ่อนจำนวนมากไม่มีนมกิน กินอาหารไม่มีคุณค่า ขาดปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พ่อแม่ที่หาเช้ากินค่ำ ทั้งแรงงานใน และนอกระบบ ตกงาน คนชั้นกลางที่เคยมีรายได้เกิน 100,000 บาท/ปี กลับไร้อาชีพและมีหนี้สิน ลำบากกันถ้วนหน้า กลายเป็นคนจนกลุ่มใหม่เพิ่มมากขึ้นไป
อีกปัจจัยทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลจะดูแลเด็กเล็กที่ยากจน ซึ่งจากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การจะแก้ไข และลดอัตราการตกหล่นของคนจนเป็นเรื่องยาก หากไม่ทำเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ทั้งที่นโยบายเรื่องสวัสดิการต่างๆของไทยก้าวหน้าไปมาก ทั้งสวัสดิการผู้สูงอายุได้ทุกคนโดยอัตโนมัติหรือการรักษาพยาบาล แต่กลับมีนโยบายและเลือกปฏิบัติเจาะจงกับเด็กยากจนด้วยระบบคัดกรองที่อาจจะส่งผลให้เกิดการตกหล่น และเข้าไม่ถึงสิทธิจำนวนมาก
การลงทุนในเด็กกลุ่ม 0-6 ปีผลวิจัยทั่วโลก ระบุชัดว่าเป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุดในช่วงชีวิต ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือเด็ก 0-6 ปีให้เป็นแบบถ้วนหน้า จะทำให้ความช่วยเหลือไปถึงเด็กเล็กได้อย่างทันที เพียงพอและครอบคลุม ลดความจำเป็นด้านเอกสารและการตรวจสอบ แม้งบประมาณที่ใช้จะสูงกว่าการให้เงินอุดหนุนแบบเฉพาะ เจาะจง จากการคำนวณงบประมาณแล้วหากเริ่มใช้ในปีถัดไป จะอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านอื่นของประเทศ และอัตราเด็กเกิดใหม่ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ งบประมาณในอนาคตก็จะค่อยๆลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรเห็นเด็กกลุ่มนี้ และเรื่องนี้เป็นภาระ อยากขอให้นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบต่อการที่ประเทศไทยจะมีนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า
“ในวาระเฉพาะหน้าจึงเสนอขอเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 600บาทต่อเดือน เป็น 2,000 บาทต่อเดือนจนกว่าการระบาดจะบรรเทาเป็นเวลา 1ปี ซึ่งถ้าให้เงินเด็ก 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า จากจำนวนเด็ก 3.53 ล้านคนคนละ 2,000 บาท 12 เดือนจะใช้งบประมาณ 84,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.5% ของจีดีพีในประเทศเท่านั้น นอกจากจะแก้ปัญหาช่องว่างของเด็กที่ตกหล่น ยังช่วยให้รัฐมีฐานข้อมูลเด็กทุกคนในระยะยาว จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ ก่อนที่วิกฤติคุณภาพชีวิตเด็กไทย จะยากเกินแก้ไข” นางสุนี กล่าว . –สำนักข่าวไทย