กทม. 21 เม.ย. – การค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเชิงรุก เป็นมาตราการสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงนี้ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝน เป็นช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่อาการระยะเริ่มต้นไม่แตกต่างจากโควิด-19 นี่จึงถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของบุคลากรทางแพทย์ ในการคัดกรองและแยกผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจตามฤดูกาลออกจากโควิด-19
มีไข้สูง ไอแห้ง เจ็บคอ และมีน้ำมูก คืออาการระยะเริ่มต้นของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่แทบไม่แตกต่างจากอาการระยะเริ่มต้นของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ซึ่งมักจะพบการแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ อดีตนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย อธิบายว่า โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มักพบการแพร่ระบาดในฤดูฝน เพราะเมื่อฝนตกลงมาจะชะล้างฝุ่น มีเชื้อโรคต่างๆ ติดมาด้วย ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค อีกทั้งความชื้นส่งผลให้เชื้อโรคเติบโตและแพร่เชื้อได้ดี ทำให้ในช่วงฤดูฝน การคัดกรอง และแยกโรคผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจประจำฤดูกาล กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถือเป็นเรื่องยาก และโจทย์ใหญ่ของบุคลากรทางการแพทย์
“ระหว่างไข้หวัดใหญ่กับโควิด ไม่มีทางแยกจากกันได้ แยกจากกันด้วยอาการไม่ได้เลย ไข้มาเร็ว ไข้สูงเร็วใน 20% ส่วนไข้โควิด 80% เป็นแล้วหายเองได้ก็จะค่อยๆ หายจากยา มี 20% ที่มีอาการมากจนแพทย์ต้องให้ยาเฉพาะสำหรับโควิด”
การซักถามอาการ ประวัติความเสี่ยง และตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่อดีตนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยระบุว่าจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นได้ แต่หากต้องแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ออกจากผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาลที่มีอาการคล้ายกัน ขณะนี้แพทย์จะส่งตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อตัดประเด็นความคล้ายของอาการออกไป หากตรวจไม่พบ ก็จำเป็นต้องตรวจด้วยการ Swab เชื้อ โดยจะนำไม้สอดเข้าไปในคอ และจมูก เพื่อเก็บสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก นำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
มาตรการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ขยายเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสอบสวนโรค และเฝ้าระวังเพิ่มอีกหลายกลุ่ม และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หากมีการคลายล็อกในหลายจังหวัด การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก หรือ Active case finding ถือเป็นเรื่งอสำคัญ เช่นที่ดำเนินการแล้วในบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต และบางเขตของกรุงเทพฯ เพื่อให้การควบคุมโรคทั้งโรคทางเดินหายใจตามฤดูกาล และโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เพิ่มผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อมากจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว . – สำนักข่าวไทย