ทำเนียบฯ 11 เม.ย.-ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ไทยผู้ป่วยใหม่ 45 คน รวมผู้ป่วยสะสม 2,518 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมเป็น 35 ราย ย้ำมาตรการระยะห่างทางสังคม เป็นมาตรการช่วยลดการติดเชื้อได้มากที่สุด วอนประชาชนร่วมมือลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า ในประเทศไทยพบผู้ติดชื้อโควิด-19 เพิ่ม 45 คน รวมป่วยสะสม 2,518 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมเป็น 35 ราย และรักษาหาย รวม 1,135 คน ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อเป็นผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยและอยู่ในกระบวนการสังเกตอาการ 14 วัน จำนวน 56 คน เพิ่มจากเดิมมา 9 คน เป็นคนใน กทม.1 คน และสงขลา 8 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ผู้เสียชีวิต 2 ราย พบเป็นผู้ชายไทย อายุ 46 ปี ทำงานในโรงรับจำนำ มีโรคอ้วน ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด- 19 เข้ารับการรักษาด้วยอาการไข้ อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส และไอ ที่โรงพยาบาลเอกชนเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการตรวจโรคไข้หวัดใหญ่โดยให้ผลลบและมีการตรวจเชื้อไวรัสโควิด- 19 พบยืนยันเชื้อเมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยวันที่ 9 เมษายน มีอาการเหนื่อยหอบเป็นอย่างมาก จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 65 ปีเป็นพนักงานทำความสะอาดของกรุงเทพมหานคร แสดงอาการไอ มีน้ำมูกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม แล้วเดินทางกลับไปยังจังหวัดพะเยาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม โดยมีการตรวจสอบผลแลปโรคไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด -19 ซึ่งยืนยันว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน การกระจายตัวสะสมทั้งประเทศ พบ กรุงเทพฯ มากที่สุด จำนวน 17 คน , สงขลา 8 คน , ปัตตานี 7 คน , ภูเก็ต 6 คน , ปทุมธานี 3 คน , ชลบุรี 2 คน , ปราจีนบุรีและพัทลุง จังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ 9 จังหวัด เช่น กำแพงเพชร ชัยนาท ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง เป็นจังหวัดที่ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อ
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในโลก ประมาณ 1,699,631 คน เสียชีวิตถึง 102,734 ราย โดยสหรัฐฯ พบสถิติผู้เสียชีวิตสูงสุด 18,747 ราย ซึ่งมาตรการระยะห่างทางสังคม ถือเป็นมาตรการตที่จะช่วยลดการติดเชื้อได้มากที่สุด ดังนั้นต้องอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงการจัดสรรหน้ากากอนามัย วันนี้ (11 เม.ย.) ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 11,500,000 ชิ้น และหน้ากากเอ็น 95 จำนวนกว่า 200,000 ชิ้นที่ได้จัดสรรไปทั่วทั่วประเทศ และวันนี้ยังรายงานมาตรการอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ โดยมีคนไทยเดินทางกลับมาจากรัสเซีย 34 คน และประเทศญี่ปุ่น 1 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการประกาศเคอร์ฟิว เวลา 22.00-04.00 น. ว่า พบประชาชนออกนอกเคหสถาน จำนวน 1,065 คน ซึ่งลดลงจากเมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) จำนวน 87 คน ส่วนการมั่วสุม วงเหล้า 109 คน เจ้าหน้าที่พบเพิ่ม 14 รายจากเดิม ซึ่งอยากจะขอความร่วมมือให้ปฎิบัติตามกฎหมายไม่ละเมิดเคอร์ฟิว ไม่ทำตัวให้เป็นภาระ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ไม่เหนื่อยมากนัก เพราะเวลานี้ทุกคนต้องช่วยกัน นอกจากนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังรายงานตัวเลขแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองทุกกลุ่มได้รับการอนุญาตอยู่ต่อเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องไปต่อใบอนุญาต เช่น วีซ่า ซึ่งทางการได้ผ่อนปรนการปฏิบัติลงเพื่อลดการเคลื่อนย้ายที่อยู่ ซึ่งจำนวนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยขณะนี้มีมากถึง 1.6 ล้านคน จึงจำเป็นต้องจำกัดการเคลื่อนย้าย
เมื่อถามถึงกรณีการพบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนน้อย ที่อาจจะมาจากอุปกรณ์การตรวจไม่เพียงพอหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การตรวจพบมากหรือน้อย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการดูแล โดยการตรวจปัจจุบันมีการตรวจ 2 แบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันที่ระยะเวลา แบบแรกคือเครื่องตรวจเร็ว หรือ การตรวจเลือด หรือตรวจภูมิคุ้มกัน ที่อาจใช้เวลา 15 นาที แต่ผลอาจมา การเปลี่ยนแปลงคลาดเคลื่อนภายหลัง และการตรวจโดยการนำก้านพันสำลีแยงไปที่โพรงจมูก เพื่อตรวจหาเชื้อ ใช้เวลาอย่างน้อย 5 วัน ซึ่งวิธีนี้ แม้ช้าแต่มีผลการตรวจที่แม่นยำและดีที่สุด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาในทุกมิติและเลือกวิธีนี้ ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนากดตัวเลข หรือซ่อนตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อให้มีจำนวนลดลงแต่อย่างใด
“เพื่อเป็นการป้องกันการกระจายเชื้อ กระทรวงสาธารณสุขจึงยืนยันการตรวจแบบนำก้าวพันสำลีแยงไปในโพรงจมูก เพราะถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะมีความแม่นยำ ทั้งนี้ขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ส่วนของ กทม.และปริมณฑล ตรวจได้วันละ 1 หมื่นเคสต่อวัน เช่นเดียวกับต่างจังหวัด 1 หมื่นเคสต่อวัน ดังนั้นการตรวจได้มากหรือการตรวจได้น้อยไม่ได้เป็นตัววัดผลในการดูแล” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
เมื่อถามถึงกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาจนหายแล้วจำนวนกว่า 1,000 คนนั้น จะเป็นพาหะกลับเข้าไปในชุมชนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวยืนยันว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อรักษาหายแล้วจะหายเลยและยังมีภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย ที่ผ่านมามีผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปบริจาคเลือดเพื่อนำพลาสม่า นำภูมิคุ้มกันไปสู่การรักษาคนไข้ต่อไป ส่วนผู้ป่วยโควิด -19 ที่รักษาหายดีแล้ว จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติหรือไม่ ตนขอยืนยันว่า โรคนี้เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อเป็นแล้วก็เปรียบเหมือนมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่ในร่างกายด้วย
“จะรังเกียจได้อย่างไร ต้องเห็นใจและขอให้คนกลุ่มนี้ไปบริจาคเลือด หรือพลาสม่า เพื่อไปรักษาคนที่ติดต่อไปมากกว่า ส่วนที่ติดแล้วหายแล้วกลับมาเป็นอีกนั้น ยืนยันว่าเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
เมื่อถามถึงการสังสรรค์ทั้งที่บ้านและพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ทำได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องอย่ามีการสังสรรค์เกิดขึ้น เพราะสถิติตัวเลขจากเมาแล้วขับเป็นหลักร้อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในช่วง 7 วันอันตราย มีอุบัติเหตุเกือบ 4 พันครั้งในทุก ๆ ปี พร้อมยืนยันว่าปีนี้กระทรวงวัฒนธรรมและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยกเลิกกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทุกอย่าง แม้ว่าวัฒนธรรมประเพณี หรือศาสนาจะมีความสำคัญต่อการสืบทอดอย่างไร ก็ไม่สำคัญมากไปกว่าสุขภาพที่ส่งผลต่อชีวิตของทุกคน.-สำนักข่าวไทย