กรุงเทพฯ 3 เม.ย. – ผู้บริหารรถไฟฟ้าทุกระบบ ทั้ง MRT BTS รถไฟฟ้า Airport Rail Link ปิดบริการ 21.30 น. หลังมีเคอร์ฟิว ส่วนรถเมล์ ขสมก.ต้องกลับถึงอู่ 3 ทุ่ม และรถไฟอาจต้องยกเลิกอีก 31 ขบวน ไม่ให้การเดินทางคาบเกี่ยวเวลาเคอร์ฟิว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) จะเปลี่ยนแปลงเวลาให้บริการ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 21.30 น. โดยรถขบวนสุดท้ายจะถึงสถานีปลายทางเวลา 21.30 น. ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบตารางการเดินรถและเวลารถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายได้จากประกาศภายในสถานี หรือเฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro โมบายแอปพลิเคชั่น Bangkok MRT
สำหรับอาคารและลานจอดแล้วจรของ รฟม.ทั้งหมด จะเปลี่ยนแปลงเวลาให้บริการเป็นตั้งแต่เวลา 05.00 – 21.30 น. เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาให้บริการของรถไฟฟ้า โดยปัจจุบัน รฟม.มีที่จอดรถแนวสายทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรที่สถานีลาดพร้าว สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีหลักสอง (2 อาคาร) และลานจอดแล้วจรที่สถานีรัชดาภิเษก สถานีห้วยขวาง สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (2 ลาน) สถานีพระราม 9 สถานีเพชรบุรี สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (2 ลาน) และสถานีสามย่าน ที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 4 แห่ง ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรที่สถานีคลองบางไผ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ และสถานีแยกนนทบุรี 1 รวมถึงที่จอดรถแนวสายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ 1 แห่ง คือ ลานจอดแล้วจรที่สถานีเคหะสมุทรปราการ
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ประกาศดังกล่าวจะทำให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปรับเวลาให้บริการ โดยช่วงเช้าจะให้บริการเวลาเดิม คือ ขบวนแรกเวลา 05 .30 น. และขบวนสุดท้ายจะให้บริการปลายทางทั้งจากสถานีพญาไทและสถานีสุวรรณภูมิในเวลา 21 .30 น. โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในการเดินทางกลับที่พัก
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แจ้งว่า ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) บริษัทฯ ขอปรับเวลาการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อปฏิบัติตามคำประกาศจากทางรัฐบาล ดังนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสจะให้บริการผู้โดยสารทุกสถานี ทั้งสายสุขุมวิท และสายสีลม ถึงเวลา 21.30 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลง
บริษัทฯ จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความมั่นใจ และปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการทุกท่าน เราจะร่วมกันจับมือฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมกันให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากของประเทศไทยไปด้วยกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องขออภัยในความไม่สะดวก และขอขอบคุณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกท่านที่เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนเวลาการเดินรถครั้งนี้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าแต่ละระบบก่อนประกาศเคอร์ฟิว ในส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ให้บริการตั้งแต่ 06.00-24.00 น. เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า BTS เปิดให้บริการ 06.00-24.00 น. ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เปิดให้บริการตั้งแต่ 05.30-24.00 น.
ด้านนายสุรชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เปิดเผยว่า หลังจากประกาศเคอร์ฟิวจำเป็นต้องปรับเวลาการเดินรถ โดยช่วงเช้าจะออกรถเวลา 04.00 น. เหมือนเดิม แต่ช่วงเที่ยวขากลับรถเมล์ ขสมก.ทุกคันจำเป็นจะต้องถึงอู่ก่อนเวลา 21.00 น. ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่ตามสภาพของการจราจร
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเหลือเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วนมาตรการระยะห่างยืนยันว่ายังมีการดำเนินการ แต่ภาพที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น เป็นเพียงแค่ผู้โดยสารบางส่วน ทั้งนี้ ได้กำชับให้พนักงาน ขสมก.เข้มงวดกับมาตรการดังกล่าวแล้ว
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จากที่มีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศห้ามออกจากบ้าน 22.00 น.-04.00 น.นั้น รฟท.จะงดให้บริการเดินรถเส้นทางสายยาวที่จะต้องออกจากสถานีต้นทางทุกสถานีที่มีการเดินรถในช่วงเวลา 13.00 น.เป็นต้นไป เนื่องจากการเดินทางระหว่างทางจะคาบเกี่ยวประกาศห้ามเดินทาง ทำให้เส้นทางบริการเดินรถสายยาว ของ รฟท.มากกว่า 30เส้นทาง ต้องหยุดให้บริการไปโดยปริยาย จากเดิมหยุดให้บริการรถไฟสายยาวไปแล้วกว่า 22 เส้นทาง ส่วนรถไฟสายสั้นนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ เส้นทางสายเหนือที่การรถไฟฯ งดเดินขบวนรถตั้งแต่วันที่ 3 เมายน 2563 นั้น มี 7 ขบวน ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถีที่ 9, ขบวนรถด่วนที่ 51, ขบวนรถเร็วที่ 109 ขณะที่ เส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ ขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถีที่ 10, ขบวนรถด่วนที่ 52 รวมถึงเส้นทางกรุงเทพ-เด่นชัย-กรุงเทพ ขบวนรถเร็วที่ 107 และ 108 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 จะงดเดินขบวนรถ 1 ขบวน ได้แก่ เส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ ขบวนรถเร็วที่ 102
ส่วนสายอีสาน ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 จำนวน 12 ขบวน ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-อุบลราชธานี ขบวนรถด่วนที่ 67, ขบวนรถเร็วที่ 139, ขบวนรถเร็วที่ 141, ขบวนรถเร็วที่ 145 ขณะที่ เส้นทางอุบลราชธานี-กรุงเทพ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 22, ขบวนรถด่วนที่ 68, ขบวนรถเร็วที่ 140, ขบวนรถเร็วที่ 142 รวมถึงเส้นทางกรุงเทพ-หนองคายขบวนรถด่วนที่ 77, ขบวนรถเร็วที่ 133 และเส้นทางหนองคาย-กรุงเทพขบวนรถด่วนที่ 78 และขบวนรถเร็วที่ 134 นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 จะงดเดินขบวนรถ จำนวน 3 ขบวน ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-อุบลราชธานี ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 21, เส้นทางอุบลราชธานี-กรุงเทพ ขบวนรถเร็วที่ 146 และขบวนรถเร็วที่ 136
ขณะที่สายใต้ ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 จะงดเดินขบวนรถ จำนวน 8 ขบวน ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-สุไหงโก-ลก ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 37, เส้นทางสุไหงโก-ลก-กรุงเทพ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 38, เส้นทางกรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 45, เส้นทางปาดังเบซาร์-กรุงเทพ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 46, เส้นทางกรุงเทพ-นครศรีธรรมราช ขบวนรถด่วนที่ 85, เส้นทางนครศรีธรรมราช-กรุงเทพ ขบวนรถด่วนที่ 86, เส้นทางกรุงเทพ-กันตัง ขบวนรถเร็วที่ 167 และเส้นทางกันตัง-กรุงเทพ ขบวนรถเร็วที่ 168
สำหรับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารแล้ว สามารถติดต่อขอคืนตั๋ว เพื่อรับเงินคืนได้ตามระเบียบของการรถไฟฯ หากต้องการสอบถามข้อมูลการเดินทางรถไฟ สามารถติดต่อเพิ่มเติมที่สายด่วน โทร. 1690.-สำนักข่าวไทย