นนทบุรี 30 มี.ค. – อีกหนึ่งอาชีพที่มีความเสี่ยงเชื้อโควิด-19 คือ อาสากู้ชีพที่ปฏิบัติหน้าที่รับคนป่วยส่งโรงพยาบาล ช่วงนี้ทำงานลำบากมากขึ้น ทำให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ผุดไอเดียดัดแปลงเสื้อกันฝน เป็นชุด PPE ให้อาสาหน่วยกู้ชีพทั่วประเทศใส่ป้องกันสารคัดหลั่ง ในกรณีต้องรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ
เมื่อได้รับการแจ้งเหตุฉุกเฉิน และพบว่าผู้ป่วยมีอาการไข้สูง สิ่งแรกที่มูลนิธิสยามนนทบุรีปฏิบัติทันทีคือ การใส่เสื้อกันฝน แว่นตา หน้ากากอนามัย ถุงมือ และหมวก เพื่อป้องกันตัวเอง ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด
ประธานมูลนิธิสยามนนทบุรี บอกว่า เมื่อพบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือติดเชื้อโควิด-19 จะมีรถกู้ชีพแบบแอดวานซ์ของโรงพยาบาลรับส่งอยู่แล้ว แต่สำหรับรถของมูลนิธิ แม้จะไม่ได้รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงจากผู้ป่วยคนอื่นที่อาจได้รับเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ พวกเขาจึงต้องป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อพบผู้ป่วยมีไข้ ตั้งแต่การใส่ชุด ประดิษฐ์กล่องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และล้างฉีดรถทำความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้อาสากู้ชีพต้องสัมผัสสารคัดหลั่ง
ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถกู้ชีพของอาสากู้ภัย และรถกู้ชีพของหน่วยงานท้องถิ่น เอกชน และมูลนิธิทั่วประเทศกว่า 15,000 คัน โดยการทำหน้าที่ของพวกเขาในช่วงที่เชื้อโควิด-19 กำลังระบาด มีความยากลำบากมากขึ้น และต้องพยายามหาวิธีป้องกันตัวเอง สพฉ.จึงมีแนวคิดนำเสื้อกันฝนมาดัดแปลงเป็นชุด PPE ให้อาสากู้ภัยใส่ เมื่อได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่รับผู้ป่วยที่ต้องกักตัวดูอาการ ซึ่งเป็นผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อ เพราะชุด PPE มีราคาแพง และกำลังขาดแคลน ทั้งชุดแบบนี้อาสากู้ภัยสามารถหาวัตถุดิบได้เองในพื้นที่ เช่น รองเท้าบูท ถุงดำ ถุงมือ แว่นตา และ face shield ทั้งหมดนี้ราคาต้นทุนรวมกันไม่เกิน 100 บาท
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติยังจัดทำแผนรับมือโควิด-19 ดึงอาสาสมัครกู้ภัยอบรมให้ความรู้ กรณีพบผู้ป่วยเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 ภายใต้ทีม Special Covid-19 operation หรือ SCOT ทั้งหมด 100 ทีม ทีมละ 3 คน กระจายอยู่ทุกจังหวัดของไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งคน และอุปกรณ์ สามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อได้รับคำสั่ง. – สำนักข่าวไทย