กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – ผู้เชี่ยวชาญชี้รัฐบาลและคนไทยสามารถร่วมกันป้องกันการระบาดอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ด้วยการ”ล็อคดาวน์” หากไม่เข้มงวดตัวเลขผู้ป่วยพุ่งนับหมื่นใน 14 วัน ด้าน กัลฟ์ มอบเงิน 20 ล้านบาท แก่ รพ.รามาธิบดี เพื่อช่วยผู้ป่วย
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มอบเงินสนับสนุนจำนวน 20 ล้านบาทแก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจจำนวน 5 เครื่อง และเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (เครื่องเอคโม – ECMO) จำนวน 3 เครื่อง เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เร่งเตรียมการในการรักษาผู้ป่วยขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต โดยเครื่องมือที่กัลฟ์บริจาค อุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเครื่อง ECMO มีศักยภาพในการทำงานทดแทนปอดและหัวใจได้ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ปอดหรือหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือเกิดความผิดปกติขึ้น นับเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญและขาดแคลนท่ามกลางการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)
“ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น ของรพ.รามาธิบดีมีแล้วรวม 45 ราย โดยเตรียมรองรับไว้เพียง 48 รายในอาคารใหม่ที่เป็นอาคารเฉพาะไม่รับผู้ป่วยประเภทอื่นที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ดังนั้นเมื่อ ผู้ป่วยเพิ่มก็ต้องปรับแผนรองรับเพิ่ม ซึ่ง เครื่องมือที่กัลฟ์บริจาคก็จะนำไปใช้ในอาคารใหม่นี้” ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าว
สำหรับการติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าจากสถิติของจีน ผู้ป่วยร้อยละ 85 มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มร้อยละ 15 ที่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีอาการรุนแรง ลุกลามอย่างรวดเร็วทำให้ปอดอักเสบ โดยจำนวนนี้ร้อยละ5 ปอดจะอักเสบรุนแรง ต้องช่วยการหายใจด้วยอุปกรณ์พิเศษอย่างเครื่อง ECMO ที่ทำหน้าที่เหมือนปอดและหัวใจเทียม
ในขณะนี้น่าเป็นกังวลกับตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นมาก หมอทั้งประเทศมีเพียง 3 หมื่นราย และจำนวนนี้ไม่ใช่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาไวรัส หรือปอดทั้งหมด ต้องรักษาผู้ป่วยอื่นๆ รวมทั้งเครื่องมือ เตียงก็ต้องรองรับผู้ป่วยอื่นๆด้วย ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงออกมารณรงค์ให้คนไทย อยู่กับบ้านลดการระบาดของโลก STAY HOME FOR US ซึ่งในช่วงเหตุการณ์ถ้ำหลวง คนไทยร่วมกันช่วยเด็กๆให้ปลอดภัยจนได้รับการชื่นชมทั่วโลก ครั้งนี้ก็อยากเห็นภาพนี้อีก ด้วยการร่วมมือหยุดโลก รักษาระยะห่าง อยู่กับบ้าน ก็จะช่วยประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
รศ. ดร. พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าได้ติดตามสถานการณ์จากต่างประเทศ มีการระบาดรุนแรง และนำตัวเลขการติดเชื้อของคนไทยไปคำณวณทางสถิติเปรียบเทียบ ซึ่งการติดเชื้อเฉพาะ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งมีเพิ่มขึ้นวันเดียว 30 คนนับว่าเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับอิตาลีที่พุ่งขึ้นร้อยละ 33 ต่อวัน ดังนั้น จึงประเมินว่า หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้มข้นออกมาออกมาย้ำเตือน โดยเฉพาะให้ประชาชนล็อคดาวน์อยู่ที่บ้าน การปิดโรงเรียน ปิดสถานที่ชุมชนต่างๆ ก็จะทำให้ ตัวเลขผู้ป่วยในไทย พุ่งขึ้น อีก 4 วันจะแตะระดับนับ 1 พันคน อีก 10 วันจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันคน และอีก 14 วัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นคน
“สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยยังเป็น Golden Period ที่ผู้ติดเชื้อยังไม่มาก แต่เริ่มเพิ่มขึ้น สถานการณ์ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และประชาชนว่าจะเลือกไปทางไหน หากเป็นไปแบบเข้มงวดเหมือนสิงคโปร์ ฮ่องกงเข้มงวดปิดสถานที่ชุมชน เช่น โรงเรียน ปิดประเทศ ตัวเลขผู้ป่วยจะ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ยอดผู้ป่วยเพิ่มจะต่ำมาก บุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์จะยังมีเพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วย แต่หากปล่อยไปเลยเถิดแบบอิตาลี อิหร่าน เกาหลี อีก14 วันตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเป็นหมื่น เราจะไม่มีทรัพยากรดูแลผู้ป่วย ปัญหาใหญ่จะตามมาก ซึ่งการป้องกันนั้นย่อมสำคัญกว่าการรักษา ยิ่งยังไม่มีวัคซีน เราจึงขอให้ทุกคนร่วมกันดูแลตัวเอง โดยเฉพาะ LOCK DOWN เพื่อที่จะได้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน” รศ. ดร. พญ.ภัทรวัณย์ กล่าว
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมากัลฟ์ได้มีการมุ่งดำเนินโครงการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง สำหรับในโอกาสนี้บริษัทฯ ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทางบริษัทจึงขอสนับสนุน ดังกล่าว เพื่อรองรับและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ป่วย COVID-19 รวมถึงยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคปอดและหัวใจต่อไปได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก็หวังว่ารัฐบาลมีมาตรการในการเข้ามาดูแลการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ทั้งจำกัดการเดินทางของประชาชน มาตรการการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือ และมีมาตรการเด็ดขาดลงโทษสำหรับคนไม่ระมัดระวังการแพร่เชื้อ หากทำได้ก็คาดว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ . – สำนักข่าวไทย