กทม.19มี.ค.-ในเวทีร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 ของเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ “นพ.ปิยะสกล”ย้ำหัวใจสำคัญ ลดการแพร่กระจายของเชื้อ คือภาคประชาชน มีวินัยดูแลรับผิดชอบตนเอง ปฏิบัติตามมาตรการเข้มข้นของภาครัฐ ด้านนายกสมาคมอุรเวชช์ฯ คาดการณ์โรคนี้อาจอยู่ตลอดปี หากไม่ให้ความมือ และผู้ป่วยที่เป็นโรคจะมีอยู่ประมาณ 2แสนคน
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ จัดงาน ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 โดยมีแพทย์จากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลในการต่อสู้กับโรคนี้ในช่วงเวลาที่เกิดการแพระบาดในวงกว้าง
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในเวลานี้การร่วมมือระหว่างหน่วยงาน สมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้องถือว่าดีขึ้นมาก ที่จะร่วมในการฝ่าฟันวิกฤตในช่วง เวลานี้ หัวใจสำคัญในการดูแลป้องกันลดการแพร่ระบาดของโรคนี้ คือภาคประชาชน ภาคเอกชน ตอนนี้ขอให้คำนึงถึงวินัย ในการดูแลรับผิดชอบตัวเอง โดยเฉพาะกับมาตรการที่เพิ่มความเข้มข้นจากภาครัฐในช่วงนี้ที่ปิดสถานที่ต่างๆ ที่จะรวมตัวผู้คนมากๆ ไม่ใช่ว่าปิดโรงเรียนปิด มหาวิทยาลัย แล้วก็ไปแอบรวมตัวเที่ยว สังสรรค์กัน ขอให้เวลานี้อดทน หลีกเลี่ยงการรวมตัวในระยะนี้ออกไปก่อน
โดยในระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่โรคกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทางภาครัฐเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับ วันละ 20-30 คน อยู่ในระดับที่รับได้ ไม่อยากให้กระโดดไปไกลหลักร้อยต่อวัน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ออกมาตรการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องให้ความร่วมมืออย่างเข้มข้น หรือในจังหวัดอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพราะเชื่อว่าหากเพิ่มระยะห่างระหว่างกัน ลดการรวมกลุ่ม งดการไปในสถานที่ที่ผู้คนแออัด ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากาก อนามัยเมื่อไปในที่คนหนาแน่น ภายใน 2-3 เดือนสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนสถานการณ์ของไทยในตอนนี้รุนแรงจนจำเป็นต้องประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้วหรือยังนั้น นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การจะประกาศว่าอยู่ในระยะอะไรก็ไม่สำคัญ เพราะสิ่งสำคัญคือการต้องดูแลตัวเองให้ดี ระยะความเข้มข้นในมาตรการขณะนี้เป็นการลดการเคลื่อนย้ายรวมของประชาชน อยู่แล้ว ถือว่าเป็นอีกวิธีที่ลดการกระจายตัวของเชื้อ ที่จะต้องขึ้นอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริงในขณะนี้
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการประชุมกับสมาคมแพทย์ในราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย คาดการณ์กรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้(worst case scenario) ของโรคนี้ตลอดปีนี้ ถ้าหากประชาชนไม่ให้ความมือในการช่วยการดูแลตัวเอง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะอยู่ที่ประมาณ 200,000 คน ลักษณะการกระจายของโรค 1คน จะกระจายไปได้อีก 4 คน ใน 5 คนที่กระจายจะมี 1คนหรือร้อยละ 20 ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาการรุนแรงต้องดูแล 48 ชั่วโมง จึงอาจจะให้กลับไปพักรักษาอาการต่อที่บ้าน ส่วนที่เหลือเท่าที่ได้รับข้อมูล จะมีอาการที่แสดงออกน้อย หรือแทบไม่มีมีเลย ในกลุ่มนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการเฝ้าระวังตัวเองอยู่ในบ้าน หรือที่ปลอดภัยเป็นเวลา 14 วัน
เมื่อถามว่าโรคนี้จะไปทำลายปอดได้ขนาดไหน พบว่า 1ใน 400 คนที่ป่วยรุนแรง มีอาการป่วยแทรกซ้อน ปอดจะถูกทำลาย ครึ่งหนึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิต ส่วนอีกครึ่งปอดก็จะไม่เหมือนเดิม ต้องประคับประคองอาการ แม้ฟังว่า โรคนี้มันน่ากลัวก็จริง แต่ไม่ได้น่ากลัวขนาดที่ว่าต้องอยู่นิ่งทำอะไรไม่ได้เลย อยู่ที่การดูแลป้องกันตัวเอง .-สำนักข่าวไทย