03 พฤศจิกายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
คดีแชร์ลูกโซ่ที่ดำเนินการโดย อเดล สปิตเซเดอร์ อดีตนักแสดงละครเวทีชาวเยอรมัน ผู้สร้างฐานะจากการหลอกลวงการลงทุน ได้รับการจารึกให้เป็นการก่อคดีแชร์ลูกโซ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เหตุหลอกลวงด้านการลงทุนที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 4 ปีในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้มีเหยื่อหลงเชื่อกว่า 32,000 ราย รวมค่าเสียหายในอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินปัจจุบันประมาณ 18,000 ล้านบาท
อเดล สปิตเซเดอร์ เป็นที่รู้จักในประเทศเยอรมนีในฐานะนักแสดงละครเวที เมื่อความนิยมเสื่อมลงแต่ยังคงใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ทำให้เธอมีปัญหาหนี้สิน และใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากมารดาที่ 50 กูลเดนต่อเดือน
จุดกำเนิดแชร์ลูกโซ่ในแคว้นบาวาเรีย
กระทั่งในช่วงปี 1869 ณ เมืองมิวนิก แคว้นบาวาเรีย เมืองทางตอนใต้ของเยอรมนีในปัจจุบัน อเดล สปิตเซเดอร์ได้พบกับภรรยาของช่างทาสีบ้านผู้ยากไร้ อเดลเล่าว่าเธอรู้จักกับคนที่สามารถให้ผลตอบแทน 10% ต่อเดือนจากเงินลงทุน ภรรยาช่างทาสีจึงมอบเงินแก่อเดลจำนวน 100 กูลเดน ซึ่งอเดลก็คืนเงินให้เธอจำนวน 20 กูลเดนในฐานะดอกเบี้ยจากการลงทุน 2 เดือน และสัญญาว่าในเดือนที่ 3 ภรรยาช่างทาสีจะได้เงินคืนอีก 110 กูลเดน
เมื่อเห็นว่าแผนการดังกล่าวได้ผล อเดล สปิตเซเดอร์ จึงนำข้อความไปโฆษณายัง Münchner Neueste Nachrichten หนังสือพิมพ์แถวหน้าของเมืองมิวนิก เพื่อยืมเงินจากผู้ลงทุนรายละ 150 กูลเดน และสัญญาจะให้ผลตอบแทน 10% ภายในเวลา 2 เดือน
ข้อเสนอของ อเดล สปิตเซเดอร์ เป็นที่โจษจันในกลุ่มคนชนชั้นกรรมาชีพในนครมิวนิก ซึ่งกำลังมองหาแหล่งลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมโดยชาวยิว จนมีคนแห่กันนำเงินเก็บมาร่วมลงทุนกับเธอ บางรายยอมขายฟาร์มของตนเองเพื่อหวังฝากอนาคตไว้กับเงินปันผลที่จะได้จากการลงทุนครั้งนี้
ก่อตั้งธนาคารจอมปลอม
ในปีเดียวกันนั้น อเดล สปิตเซเดอร์ ได้ก่อตั้งธนาคารที่มีชื่อว่า Spitzedersche Privatbank โดยใช้ห้องในโรงแรมที่เธออาศัยเป็นสำนักงาน ภายหลังเธอต้องเช่าห้องเพิ่มเมื่อจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 40 คนอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ทีมงานของ อเดล สปิตเซเดอร์ เต็มไปด้วยบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำบัญชี เงินที่ได้จากนักลงทุนถูกเก็บอย่างลวก ๆ ในกระสอบหรือตู้เก็บของ รายชื่อผู้ลงทุนมีการบันทึกเพียงชื่อและจำนวนเงินลงทุนเท่านั้น และเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงานที่ไม่รู้หนังสือ จึงลงชื่อด้วยการทำเครื่องหมายกากบาทแทนลายเซ็น
ข้อเสนอของ อเดล สปิตเซเดอร์ ส่งผลต่อธุรกิจธนาคารรายอื่น ๆ ในเมืองมิวนิก เมื่อผู้คนแห่กันถอนเงินจากธนาคารอื่น ๆ เพื่อนำเงินมาลงทุนกับธนาคารของเธอจำนวนมาก
ไม่รู้แหล่งรายได้-ไม่ประกันเงินต้น
จุดสังเกตในข้อเสนอของ อเดล สปิตเซเดอร์ คือเธอไม่เคยบอกว่าจะนำเงินไปลงทุนอย่างไร และไม่เคยสัญญาเรื่องการรับประกันเงินต้นอีกด้วย แต่ลูกค้าที่นำเงินมาลงทุนต่างยินดีกับผลตอบแทนที่เธอสัญญาจะมอบให้โดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ
ซึ่งวิธีการจ่ายผลตอบแทนของ อเดล สปิตเซเดอร์ คือการนำเงินลงทุนจากลูกค้ารายใหม่ ไปจ่ายเป็นผลตอบแทนที่สัญญาไว้กับลูกรายเก่า ซึ่งเข้าข่ายการทำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่อย่างชัดเจน
เหตุผลที่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ไม่ถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายด้านการธนาคารและกฎระเบียบด้านการเงินออกมาบังคับใช้ และเธอยังคงให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนตามที่สัญญาไว้เสมอ นอกจากนี้ แคว้นบาวาเรียในยุคนั้นยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจหลายชนิดสามารถดำเนินการโดยปราศจากการตรวจสอบด้านความโปร่งใสอีกด้วย
ขยายกิจการธุรกิจแชร์ลูกโซ่
จนกระทั่งในปี 1871 ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของ อเดล สปิตเซเดอร์ เติบโตอย่างต่อเนื่อง เธอจึงนำเงินลงทุนของลูกค้าจำนวน 54,000 กูลเดน ไปซื้อบ้านใหม่เพื่อจะใช้เป็นสำนักงานของเธอ โดยขณะนั้นมีพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 80 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายหน้าที่ได้ส่วนแบ่งจากการหาลูกค้าใหม่รายละ 5-7 %
อเดล สปิตเซเดอร์ ต่อยอดธุรกิจด้วยการปล่อยเงินกู้และลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ จนมีรายได้ถึง 50,000 ถึง 60,000 กูลเดนต่อวัน ความมั่งคั่งทำให้เธอครอบครองทรัพย์สินมูลค่านับล้านกูลเดนและเป็นเจ้าของงานศิลปะราคาหลายล้านกูลเดน รวมถึงเป็นเจ้าของบ้านในมิวนิกถึง 17 หลัง จนสื่อในยุคนั้นยกให้เธอเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในแคว้นบาวาเรีย
สร้างภาพให้คนหลงศรัทธา
อเดล สปิตเซเดอร์ ใช้กลยุทธ์ซื้อใจเหยื่อแชร์ลูกโซ่ด้วยการเปิดให้มีการฝากเงินต่อเมื่อธุรกรรมการถอนเงินสิ้นสุดลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเลยช่วงเที่ยงวันไปแล้ว ส่งผลให้แถวของผู้คนที่นำเงินมาฝากกับเธอยาวเหยียดไปนอกสำนักงาน สร้างความรู้สึกแก่ผู้พบเห็นว่าการร่วมลงทุนกับเธอเป็นโอกาสที่พิเศษแค่ไหน
อเดล สปิตเซเดอร์ ยังสร้างภาพให้ตนเองเป็นผู้เคร่งศาสนา ด้วยการคล้องไม้กางเขนให้เห็นอย่างเด่นชัด และร่วมกิจกรรมทางศาสนากับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
เธอนำเงินที่ได้จากนักลงทุนไปเปิดโรงทานถึง 12 แห่งในเมืองมิวนิก พร้อมจำหน่ายอาหารและเบียร์ในราคาย่อมเยาว์ จนเธอได้รับการยกย่องจากชาวบ้านว่าเป็น “เทพธิดาแห่งผู้ยากไร้”
การสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา ทำให้เธอได้รับการหนุนหลังจากโบสถ์คาทอลิก ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น และเป็นโล่ป้องกันเสียงวิจารณ์การดำเนินธุรกิจที่คลุมเครือของเธออีกทางหนึ่ง
การสอบสวนของสื่อมวลชน
Münchner Neueste Nachrichten หนังสือพิมพ์แนวคิดเสรีนิยมของเมืองมิวนิก เริ่มตีพิมพ์บทความตั้งคำถามความโปร่งใสในธุรกิจของ อเดล สปิตเซเดอร์ ตั้งแต่ปี 1870
อเดล สปิตเซเดอร์ ตอบโต้ด้วยการซื้อพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์หัวหลัก ๆ ของเมืองเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน นอกจาก Münchner Neueste Nachrichten จะปฏิเสธการให้พื้นที่โฆษณาแก่ อเดล สปิตเซเดอร์ แล้ว ยังบอกปัดการติดสินบนจากเธอเพื่อให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์อีกด้วย
อเดล สปิตเซเดอร์ จึงหันไปขอความร่วมมือจาก Volksbote หนังสือพิมพ์แนวคิดอนุรักษ์นิยมซึ่งมีชื่อเสียงพอ ๆ กับ Münchner Neueste Nachrichten แต่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน และเป็นลูกหนี้ของ อเดล สปิตเซเดอร์ ในขณะนั้น
นับแต่นั้น Volksbote จึงถูกใช้เป็นช่องทางโต้แย้งคำกล่าวอ้างที่มาจาก Münchner Neueste Nachrichten ไปโดยปริยาย
รวมถึงแรงสนับสนุนจากสื่อในแวดวงศาสนา ที่ออกมาโต้แย้งคำวิจารณ์ต่อ อเดล สปิตเซเดอร์ ว่าเป็นเพียงแผนการของกลุ่มทุนชาวยิว ที่พยายามด้อยค่าความสำเร็จของผู้หญิงทำมาหากินและเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนา
ในปี 1871 อเดล สปิตเซเดอร์ ได้ควบกิจการหนังสือพิมพ์หลายเจ้าที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงเวลา และยังเปิดหนังสือพิมพ์ของเธอเองในชื่อ Münchener Tageblatt
การมีสื่อในมือทำให้ชื่อเสียงของเธอโด่งดังไปถึงนอกเมืองมิวนิก และเริ่มมีลูกค้าจากต่างเมืองนำเงินมาลงทุนกับเธอมากขึ้นเรื่อย ๆ
การล่มสลายของอาณาจักรแชร์ลูกโซ่
Münchner Neueste Nachrichten ซึ่งรายงานความผิดปกติของธุรกิจแชร์ลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง ได้ตีพิมพ์บทความในช่วงปลายปี 1872 ซึ่งเนื้อหาเป็นการแนะนำเจ้าหน้าที่ให้เห็นช่องทางการตรวจสอบและเอาผิดธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของ อเดล สปิตเซเดอร์
การตีพิมพ์ครั้งนั้น ส่งผลให้ผู้คนเริ่มถอนเงินจากธนาคารในสัดส่วนที่มากกว่าการลงทุน ด้าน อเดล สปิตเซเดอร์ จึงรับมือด้วยการอนุญาตให้ถอนเงินแค่ช่วง 6-7 โมงเช้า และห้ามถอนเงินทุกวันพุธและวันเสาร์
ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ลูกค้าจำนวน 40 รายไปขอคำร้องต่อศาลแขวงให้ทำการตรวจสอบการทำบัญชีของธนาคารของอเดล นอกจากนี้ ธนาคารคู่แข่งได้นำลูกค้าจำนวน 60 ราย รวมตัวไปถอนเงินที่ Spitzedersche Privatbank ในวันเดียวกัน ก่อนจะพบว่าธนาคารของ อเดล สปิตเซเดอร์ ไม่มีเงินเหลือเพียงพอให้ลูกค้าถอน นำไปสู่คำสั่งปิดธนาคารในเวลาต่อมา
อายัดทรัพย์และจำคุก
มีการประเมินว่า ในช่วงที่ธนาคาร Spitzedersche Privatbank ดำเนินการ มีลูกค้ากว่า 32,000 รายถูกหลอกให้ลงทุน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 38 ล้านกูลเดน หรือคิดเป็นเงิน 500 ล้านยูโร หรือ 18,000 ล้านบาทในค่าเงินปัจจุบัน
เมื่อนำทรัพย์สินที่อายัดจาก อเดล สปิตเซเดอร์ มาคำนวณ พบว่ามีมูลค่าเพียง 15% ของเงินที่เสียหายจากการลงทุน ส่งผลให้มีผู้ถูกหลอกนำเงินไปลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
อเดล สปิตเซเดอร์ ถูกตั้งข้อหาล้มเหลวในการดูแลบัญชีลูกค้าธนาคาร ยักยอกเงินลูกค้า และใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินควร และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 10 เดือนในข้อหาล้มละลายจากการทุจริต เมื่อเดือนกรกฎาคม 1873
สาเหตุที่เธอไม่ถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกง เนื่องจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของเธอไม่ตรงกับคำจำกัดความเรื่องการฉ้อโกงในขณะนั้น และการที่เธอไม่เคยรับประกันเงินต้นแก่ลูกค้า ยังถูกใช้เป็นเหตุบรรเทาโทษแก่เธออีกด้วย
ฉากสุดท้ายของเจ้าแม่แชร์ลูกโซ่
อเดล สปิตเซเดอร์ ได้รับอิสรภาพในเดือนกันยายน 1876 และกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และไม่สามารถขึ้นลงบันไดด้วยตัวเองได้นับแต่นั้น
ผู้คนที่เคยได้รับผลประโยชน์จากเธอต่างพากันทอดทิ้งเธอ หนังสือพิมพ์ที่เคยปกป้องเธอ หันมาหากำไรจากการเผยแพร่รายงานเปิดโปงธุรกิจของเธอ
ความพยายามคืนวงการละครเวทีประสบความล้มเหลว ผู้คนในเมืองฮัมบูร์กไม่ต้อนรับเธอ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเบอร์ลินก็ห้ามเธอขึ้นแสดงและขับเธอออกจากเมือง แม้แต่ความพยายามเดินทางไปออสเตรียก็ประสบความล้มเหลว เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งห้ามไม่ให้เธอติดต่อกับผู้กำกับการแสดง
สุดท้าย เธอตัดสินใจเปลี่ยนชื่อ แล้วกลับไปทำธุรกิจล่อลวงนักลงทุน นำไปสู่การถูกจับกุมอีกหลายครั้ง
ในช่วงท้าย เธอต้องใช้ชีวิตจากเงินที่หยิบยืมจากเพื่อนที่หลงเหลือ และเงิน 50 กูลเดนที่มารดาของเธอยังส่งมาให้ใช้ทุกเดือน ก่อนที่เจ้าแม่แชร์ลูกโซ่แห่งเมืองมิวนิก จะจบชีวิตด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในวัย 63 ปี ในปี 1895 ร่างของเธอถูกฝังในสุสานของครอบครัวที่เมืองมิวนิก โดยภายหลังสมาชิกในครอบครัวได้ทำการเปลี่ยนชื่อบนป้ายจารึกหลุมฝังศพของเธอเป็น อเดล ชมิด ในเวลาต่อมา
มรดกแชร์ลูกโซ่ข้ามพรมแดน
ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ แฮนนาห์ แคทเธอรีน เดวีย์ส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ยุคใหม่ มหาวิทยาลัยซูริก สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวถึงคดีแชร์ลูกโซ่ในปี 1874 ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งคาดว่าเป็นการเลียนแบบธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่ อเดล สปิตเซเดอร์ เคยทำไว้มาดัดแปลงนั่นเอง
รูปแบบการทำกำไรจากการนำเงินลงทุนของลูกค้ารายใหม่ ไปจ่ายเป็นผลตอบแทนที่สัญญาไว้กับลูกค้ารายเก่า ได้รับการเรียกขานจาก Harper’s Weekly นิตยสารรายสัปดาห์ในศตวรรษที่ 19 ว่าเป็นการฉ้อโกงที่รู้จักในชื่อ Spitzeder Swindle ซึ่งได้รับการยืนยันว่า เป็นการทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ครั้งแรกที่มีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์นั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Adele_Spitzeder
https://en.wikipedia.org/wiki/Ponzi_scheme
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter