รพ.ศิริราช 1 ต.ค.-ศิริราชเตือนประชาชน โดยเฉพาะเด็ก-ผู้สูงอายุ รับมือฝุ่นละออง PM2.5 ที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ กระตุ้นภาครัฐจัดการต้นตอก่อฝุ่นพิษ ดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งภาค อุตสาหกรรม คมนาคม และการก่อสร้าง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แถลงถึงการเตรียมรับมือคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ว่าจากปัญหามลพิษในอากาศของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่รุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีก่อนตลอดมาจนถึงต้นปีนี้ แล้วจึงค่อย ๆ ดีขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนเมื่อเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่มาปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนที่แล้ว ทำให้เกิดปรากฏ การณ์อุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) คุณภาพอากาศจึงแย่ลงเร็วจากมลพิษในอากาศ ที่ไม่สามารถฟุ้งกระจายออกไปได้ตามปกติ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเรายังไม่สามารถควบคุมแหล่งการผลิตมลพิษเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม การก่อสร้างและกิจกรรมประจำวันของประชากรกรุงเทพฯ และคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับต่อไป
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ร่วม มือกันเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว คือ
1.ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงพิษภัยของมลพิษในอากาศที่มีผลคุกคามต่อทุกคนโดยเฉพาะเยาวชน สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง
2.ให้การศึกษากับประชาชนเพื่อปรับกิจกรรมประจำวันและใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองที่ถูกต้องเหมาะสมตาม คุณภาพอากาศ โดยคำนึงถึงว่า
2.1 การวัดปริมาณ PM2.5 ที่ไม่แยกปริมาณไอน้ำออกไป ด้วยเครื่องมือวัดแบบพกพาหรือแบบที่ไม่ซับซ้อน อาจจะได้ค่าสูงกว่าการวัดด้วยเครื่องมือมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษถึง 1.5 เท่า
2.2 ระดับการเตือนภัย (ในรูปแบบรหัสสีต่างๆ) ของกรมควบคุมมลพิษ สูงกว่าระดับที่รับรองโดยองค์การอนามัยโลกและประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ดังนั้นจึงควรมีเกณฑ์มาตรฐานในการวัดค่า ฝุ่นพิษ ให้ทุกคนสามารถตระหนักรู้และระหว่างป้องกันได้ทันท่วงที
3. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันสาหรับประชาชนให้เพียงพอ ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากาก N-95 สำหรับใช้กลางแจ้ง และเครื่องฟอกอากาศหรือแผ่นกรองอากาศ สำหรับใช้ในตัวอาคาร 4. ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย ทั้งการควบคุมปริมาณและคุณภาพยานพาหนะ การจำกัดกระบวนการก่อสร้าง ลดกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรม และควบคุมการ เผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการปิดสถานศึกษาและสถานที่ทำงานของภาครัฐและเอกชน 5.จัดหาสถานที่สาธารณะในแต่ละชุมชนให้เพียงพอ เพื่อเป็นที่พักอาศัยของประชากรกลุ่มเสี่ยงเมื่อระดับคุณภาพ อากาศอยู่ในระดับอันตรายหรือวิกฤต โดยต้องมีการติดตั้งระบบปรับและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในสถานที่นั้นด้วย
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่าในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงช่วงกุมภาพันธ์ปีนี้ รพ.ศิริราช รวมถึงหลายโรงพยาบาลในกรุงเทพ พบข้อมูลผู้ป่วยโรคปอดโรคถุงลมโป่งพองมีจำนวนเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตรงกับช่วงที่มีภาวะฝุ่น 2.5 PM
ขณะที่ทีมข่าว ได้สำรวจการซื้อหาหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน ฝุ่นละอองPM2.5 พบว่า ยังมีวางจำหน่ายอยู่ตามร้านขายยาทั่วไปและมีประชาชนทยอยมาซื้อ และสอบถามกับ เจ้าหน้าที่ถึงรูปแบบวิธีการใช้ อยู่ตลอดเวลา .-สำนักข่าวไทย