ทำเนียบฯ 16 มี.ค.-“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ยืนยันไทยยังคงอยู่ในระยะ 2 ยังไม่เข้าสู่ระยะ 3 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ไทยตั้งขึ้นเอง ต่างชาติไม่ได้กำหนดมาตรฐานในแต่ระยะ พร้อมเตรียมมาตรการ 6 ด้านรับมือหากไทยเข้าสู่ระยะ 3
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึงมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังการประชุม 5 ชั่วโมง มีมติเอกฉันท์เห็นพ้องต้องกัน โดยบางส่วนสามารถดำเนินได้เลย ขณะที่บางส่วนจะต้องเสนอ ครม.ในวันพรุ่งนี้ ยืนยันไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เรากำหนดขึ้นเองว่าระดับใดเป็นขั้นไหน โดยขั้นที่ 3 คือ ประชาชนชาวไทยรับเชื้อหรือติดกันเอง โดยสืบสาวราวเรื่องไม่ได้ว่าติดจากคนที่มาจากต่างประเทศ ติดแบบนี้จำนวนมาก หลากหลายพื้นที่ แสดงว่าคับขันเกินกว่าขั้น 2 แล้ว ต้องใช้การรับมืออีกแบบหนึ่ง ย้ำเป็นเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นเอง จีน องค์การอนามัย สหรัฐ ไม่ได้มีเกณฑ์แต่อย่างใด
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้แบ่งงานเป็น 6 ด้าน เพื่อเตรียมรับระยะ 3 โดยเตรียมไว้ก่อนเพื่อความอุ่นใจของพี่น้องประชาชน โปรดอย่าตื่นตระหนก 1.ด้านสาธารณสุข เตรียมสถานพยาบาลให้เพียงพอ, เตรียมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมระดมติดต่อแพทย์รัฐ เอกชน ที่เกษียณแล้ว รวมทั้งพยาบาล จิตอาสา อนุมัติค่าตอบแทนพิเศษ
2.ด้านเวชภัณฑ์ เจล หน้ากากอนามัย เร่งกำลังผลิตมากขึ้น เกือบถึง 2 ล้านชิ้นแล้วโดยประมาณ และได้รับแจ้งจากบางประเทศว่าพร้อมช่วยเหลือมากขึ้น เร่งผลิตแอลกอฮอล์และเจลให้มากขึ้น นำของกลางที่จับกุมได้ส่งมาที่ศูนย์โควิด-19 เพื่อหมุนเวียนใช้ก่อน โดยไม่ให้เสียรูปคดี
3.ด้านข้อมูลข่าวสาร แต่ละวันมีประชาชนโทรเข้ามา 1,000 รายทุกวัน ซึ่งเคลียร์ได้วันละ 98% ที่เหลือจะชี้แจงให้ชัดเจนต่อไป 4.ด้านต่างประเทศ มีต่างประเทศแสดงความจำนงให้ความช่วยเหลือ แต่เราก็จะพยายามยืนบนขาตัวเองให้มากที่สุด เร่งผลิตชุด PPE ส่วนที่ได้ยกเลิกวีซ่าไป ทุกประเทศพร้อมยอมรับ ไม่มีปัญหา ส่วนคนไทยที่ยังอยู่ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทูตและครอบครัว นักเรียนไทย พระภิกษุ แรงงานไทยอีกนับแสน นายกรัฐมนตรีสั่งการ กต.ตั้งทีมไทยแลนด์ในทุกประเทศรับมือโควิด-19 โดยเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าทีม รับเรื่องร้องเรียนและรายงานเข้ามาสู่ส่วนกลาง
5.มาตรการป้องกัน เตรียมรับมือสำหรับคนที่ไม่ได้เจ็บป่วย ย้ำอยู่ระหว่างเตรียมรับสถานการณ์ เตรียมให้การเข้าประเทศไทยเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ยกเลิกฟรีวีซ่า, VISA on Arrival โดย 4 ประเทศ+ 2ดินแดน ยังคงมาตรการสูงสุด ประเทศอื่นๆ ยังไม่ประกาศเพิ่มเติม ขอประเมินสถานการณ์เป็นรายวันไป ซึ่งมาตรการเข้มงวดสำหรับประเทศที่ไม่ใช่เขตโรคติดต่อร้ายแรง 4 ประเทศ รวมถึงมาตรการตั๋วหรือบัตรโดยสาร ต้องหาใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ทำประกันสุขภาพ ยอมให้ทางการติดตั้งแอปติดตามตัว
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ เดิมที่หยุดยาว 5 วัน อาจทำให้ประชาชนเคลื่อนย้ายเดินทางมากกว่าปกติ เกรงเพิ่มความเสี่ยง คนติดโรคในกรุงเทพฯ ไปแพร่เชื่อในต่างหวัด หรือไปรับเชื้อในต่างจังหวัดมาแพร่ในกรุงเทพฯ หรือความแออัด เฉลิมฉลองระหว่างเดินทาง เพื่อลดความเสี่ยง เอกฉันท์ให้งดวันหยุดสงกรานต์ 13-14-15 เมษายน ไม่เป็นวันหยุดราชการ และหยุดงานของเอกชน แต่รัฐจะชดเชยวันหยุดในโอกาสอื่นต่อไป ช่วงเวลาใดจะประกาศให้ทราบ โดยจะนำเสนอ ครม.ในวันพรุ่งนี้
เกณฑ์การควบคุมหรือปิดสถานที่
1.ต้องควบคุมสถานที่บางแห่งที่มีคนไปชุมนุมกันคราวละมากๆ และเป็นกิจวัตร และมีโอกาสเสี่ยงสูง ไม่ได้เข้าไปนั่งนิ่งๆ มีการพูดจาปราศรัย มีกิจกรรมให้ทำ มีทางเลือกทางเลี่ยงไม่ให้คนมาชุมนุม จะเสนอ ครม.พรุ่งนี้ ปิดไว้ก่อนชั่วคราว เริ่มตั้งแต่พุธที่ 18 มี.ค. เช่น มหาวิทยาลัยทั้งรัฐเอกชน โรงเรียนทั้งรัฐ-เอกชน-อินเตอร์ ให้ปิดด้วย เร่งวันปิดให้เร็วขึ้น สถานกวดวิชา เลื่อนออกไปได้ หรือคืนเงิน ใช้มาตรการเดียวกับสายการบิน โรงแรมหรือทัวร์
2.สถานที่มีผู้คนมาชุมนุมคราวละมากๆ มีการกู่ก้องร้องตะโกน มีโอกาสสัมผัส แพร่เชื้อ ทางสารคัดหลั่ง ปิดสถานที่ชั่วคราว เช่น สนามมวย สนามกีฬา กีฬาที่มีการสัมผัสกัน โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์อาจเข้าเกณฑ์ โดยต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง อาจกำหนดเกณฑ์จำนวนคน
ทั้งนี้ ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ไม่เข้าเกณฑ์ยังเปิดได้ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ เช่น มีการยิงเลเซอร์วัดไข้ มีเจล มีหน้ากากอนามัย หากฝ่าฝืนก็โดนสั่งปิดเป็นรายๆ ไป ในต่างจังหวัดให้เป็นอำนาจผู้ว่าฯ ในความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ ใน กทม.เป็นอำนาจผู้ว่าฯ กทม.ในความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. พิจารณาเป็นรายจังหวัดไป
นอกจากนี้ นายกฯ กำชับให้ความรู้ประชาชนดูแลตัวเอง เหลื่อมเวลาทำงาน เหลื่อมรับประทานอาหาร เพื่อลดจำนวนคนเดินทางที่ละมากๆ และสะดวกต่อการจัดเก้าอี้รับประทานอาหารให้ห่างกัน 1 เมตร เลี่ยงมาชุมนุมที่ทำงานกันคราวละมากๆ เอางานไปทำที่บ้านตามเกณฑ์ที่กำหนด
6.มาตรการเยียวยา เดือน เม.ย.ปกติ จะมีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น จะมีผู้มาประชุมกันจำนวนมาก กระทรวงที่เกี่ยวข้องเห็นควรให้เลื่อนประชุมผู้ที่หุ้นออกไป แต่จะเป็นเมื่อใดจะแจ้งให้ทราบ มีประกาศ คสช.ให้ประชุมทางไกลได้ แต่ตามระเบียบบริษัทต้องประชุมให้ได้ ก็ต้องมีมาตรการป้องกัน
ก.คลัง รับเจรจาลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ อาคารสถานที่ รวมถึงภาคเอกชนรายใหญ่ๆ รวมทั้งการชำระหนี้ต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบ ย้พในสถานการณ์การป้องกวันและการดูแลรักษา มีลำดับความสำคัญอันดับ 1 ส่วนเรื่องอื่น ผลกระทบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สำคัญลำดับ 2 ต้องเอาชีวิตผู้คนรอดไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าศึกนี้จะยาวนานขนาดไหน ค่อยมาฟื้นฟูทีหลัง
มาตรการทั้งหมดประมวลรายงาน ครม.พรุ่งนี้ เพื่อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องใดดำเนินการได้เลยก็ให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการ
ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ย้ำสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนอาหารแต่อย่างใด ยืนยันยังมีเพียงพอ.-สำนักข่าวไทย