อุบลราชธานี 1 ก.ค.-นายแพทย์สาธารณสุข จ.อุบลราชธานี แถลง กรณีการเสียชีวิตของ ด.ญ.อายุ 13 ปี สรุปประวัติอาการผลเลือดทั้งหมด เสียชีวิตจากโรคฉี่หนู พร้อมแนะนำประชาชนป้องกันโรคจากฉี่หนู
กรณี นางนันทพร ชาวบ้านสำโรง จ.อุบลราชธานี ร้องขอความเป็นธรรม หลังลูกสาววัย 13 ปี ปวดขาหนัก จนพาไปพบแพทย์ สุดท้ายตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ จนเกิดอาการช็อกเสียชีวิต อยากให้หมอชี้แจงสาเหตุที่ลูกเสียชีวิต เพราะก่อนหน้า ลูกสาวมีอาการปกติ และไม่มีโรคประจำตัว ช่วงบ่ายที่ผ่านมา นางนันทพร พร้อมสามี เดินทางไปยัง กลุ่มงานกฎหมายสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบมาตรฐานของแพทย์พยาบาล ที่ทำการรักษา ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานกฎหมาย สสจ.อุบลฯ ได้สอบถามเหตุการณ์ และบันทึกคำร้องทุกข์ของนางนันทพร นำเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ในวันเดียวกัน นพ.ธีระพงษ์ นพ.สสจ. อุบลราชธานี แถลง กรณีการเสียชีวิตของ ด.ญ.อายุ 13 โดยระบุเด็ก รับการรักษาที่ รพ.ตาลสุม ด้วยอาการปวดขา แพทย์ได้ซักประวัติเบื้องต้นทราบ มีการสอบวิชายืดหยุ่นที่โรงเรียน แล้วเกิดอาการปวดขา ตรวจวัดสัญญาณชีพ พบชีพจร และความดันสูงผิดปกติ มีไข้ 39.5 มีจ้ำเลือดที่ขา ฉี่ไม่ออก จึงทำการเจาะเลือด พบเด็กเกร็ดเลือดต่ำเหลือ 4 หมื่น จากปกติประมาณ 1 แสน และเม็ดเลือดขาวสูง บ่งบอกการติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์ได้ให้ยาฆ่าเชื้อแบบคลุมไว้เบื้องต้น และส่งตัวไป รพ. ๕0 พรรษามหาวชิราลงกรณ เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เมื่อมาถึง รพ. ๕0 พรรษาฯ มีการตรวจรักษาตามขั้นตอน ขณะนั้นอาการเด็กแย่ลง จนมีการปั้มหัวใจช่วยชีวิต และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
จากการตรวจสอบประวัติย้อนหลัง พบ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดบริเวณ ขา แขน ไตวาย ผลเลือดผิดปกติ ทำให้นึกโรคฉี่หนู แต่การวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน ต้องส่งเลือดตรวจ แบบ PCR แต่สำหรับ ด.ญ.อายุ 13 ไม่ได้ส่งตรวจ เพราะขณะนั้นมีอาการแย่ลงต้องทำการช่วยชีวิต และเสียชีวิตในที่สุด นพ. ธีระพงษ์ กล่าว เรื่องประวัติที่มีการให้เรื่องของการสอบการยืดหยุ่นแล้วปวดขา ทำให้ยังไม่มีการนึกถึงเรื่องโรคฉี่หนู แต่ด้วยอาการไข้ ปวดขา ผลเลือดที่ผิดปกติทำให้มั่นใจ มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ทางรพ. จึงได้ให้ยาฆ่าเชื้อคลุมไว้ก่อน รวมทั้งโรคฉี่หนู จากสรุปทั้งประวัติอาการผลเลือดทั้งหมด ด.ญ.อายุ 13 เสียชีวิตจากโรคฉี่หนู
สำหรับสถานการณ์โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซีส ใน จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซีส 1,265 ราย เสียชีวิต 12 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำในทุ่งนา ที่ไร่สวน ไม่สวมรองเท้าบู๊ท ข้อแนะนำประชาชนในการป้องกันโรค แนะนำให้สวมรองเท้าชู้ท ทุกครั้ง เมื่อลงทำนา ไปไร่สวน ป้องกันการติดเชื้อ 2. หลังลงแช่น้ำในทุ่งนา ให้รีบอาบน้ำ ฟอกสบู่ทันที หากมีบาดแผลให้ปิดแผลก่อนลงสัมผัสน้ำ 3. หากมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องขา ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจรักษา ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง.-สำนักข่าวไทย