กรุงเทพฯ มี.ค.- “สนธิรัตน์” ถือโอกาสตรวจเยี่ยมแหล่งเอราวัณ แหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทยแหล่งแรก kick off โครงการโชติช่วงชัชวาลย์เฟส 2 เตรียม เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบ 23 เดือนเม.ย. นี้ และเจรจาพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกิจการผลิตปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ว่า แหล่งนี้มีการผลิต มายาวนานสร้างความมั่นคงและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เป็นยุคโชติช่วงชัชวาลย์ ตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ตนจึงขอให้โอกาสนี้ ประกาศเดินหน้า โครงการโชติช่วงชัชวาลย์ยุคที่ 2 ด้วยการเตรียมเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 23 บริเวณทะเลอ่าวไทย ระบุ 3แปลง ภายในเดือนเมษายน 2563 คาดว่าจะได้คัดเลือกผู้ชนะเสร็จสิ้นภายใน1ปี ในขณะเดียวกันจะเดินหน้าหารือกับกัมพูชา เพื่อเดินหน้าในการร่วมพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อมระหว่างกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเนื่องทั้ง 2 ประเทศระยะยาว
” แหล่งปิโตรเลียมช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ก่อเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทย มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 3 ของจีดีพี ดังนั้น การเปิดประมูลรอบ 23 หลังจากว่างเว้นมา 13 ปี จึงมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ” รมว.พลังงานกล่าว
นายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ในฐานะที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศไทยสร้างรายได้ให้กับประเทศในรูปแบบค่าภาคหลวง มาแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท ส่วนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 23 จำนวน 3 แปลงในอ่าวไทย คาดก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาทหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม ซึ่งเบื้องต้นหากเจอปิโตรเลียมก็คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนฯผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ทั้งกลุ่มเอราวัณ เบญจมาศ และไพลิน คิดเป็นมูลคาเฉพาะค่าภาคหลวง 5.11แสนล้านบาท เงินลงทุนรวม 1.3 ล้านล้านบาท พัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ เนื่องจากแหล่งของไทยเป็นกระเปาะเล็ก ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีต่างประเทศมาพัฒนาได้ โดยองค์ความรู้จึงถ่ายทอดไปใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งเชลล์ออยล์/เชลล์แก๊ซในต่างประเทศ
ส่วนการส่งมอบข้อมูลเบื้องต้นหลุมผลิตกลุ่มเอราวัณนั้น มีทั้งหมด 191 แท่น รอกรมเชื้อเพลิงพิจารณาว่าจะรื้อถอนเท่าใด โดยขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาทางบริษัทพร้อมรื้อถอนก่อนหมดสัญญาสัมปทานในเดือนเมษายน 2565
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กิจการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีปริมาณ การผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 1,257 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คอนเดนเสท หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว เฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 44,519 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ เฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 27,324 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ (แปลงสำรวจหมายเลข 10 11 12 และ 13) จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 จากนั้นจะบริหารจัดการภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชนะการประมูลเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา . – สำนักข่าวไทย