กทม. 27 ก.พ.- แพทย์แจง Super Spreader คือ คนที่แพร่โรคไปยังบุคคลอื่นจำนวนมาก ในอัตรา 1 ต่อ 10 หรือ 1 ต่อ 20 ส่วนปู่–ย่า ย่านดอนเมือง ที่ปกปิดประวัติเดินทางไปประเทศเสี่ยง ก่อนตรวจพบป่วยโควิด–19 และแพร่เชื้อไปยังหลานชาย ยังไม่ใช่ Super Spreader เหมือนป้าที่เกาหลีใต้
หลังกรณี ปู่–ย่า ย่านดอนเมือง ปกปิดประวัติเดินทางไปประเทศเสี่ยง ก่อนจะยอมรับภายหลังแต่ก็สายไปแล้ว เนื่องจากทั้งคู่ป่วยโควิด–19 และแพร่เชื้อไปยังหลานชาย จึงเกิดคำถามว่า ปู่-ย่าคู่นี้เป็น Super Spreader หรือผู้ที่สามารถแพร่โรคไปยังบุคคลอื่นๆ จำนวนมาก เช่นเดียวป้าที่เกาหลีใต้หรือไม่
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า Super Spreader หมายถึง คนที่มีความสามารถ ในการแพร่โรคไปยังบุคคลอื่นๆ จำนวนมาก ในอัตรา 1 ต่อ 10 หรือ 1 ต่อ 20 เช่น กรณีอาจุมม่าเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างของ Super Spreader ได้อย่างดี หลังกลับจากเที่ยวอู่ฮั่น อาจุมม่า แสดงอาการป่วยโควิด-19 แต่ปฏิเสธการตรวจโรค และไปร่วมกิจกรรมในสถานที่คนหมู่มาก ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไปยังบุคคนอื่นจำนวนมาก และ 6 วัน หลังผ่านกิจกรรมเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกิน 1,000 คน
มีข้อมูลเมื่อปี 2003 เคยเกิด Super Spreader จากนายแพทย์ชาวจีนคนหนึ่งที่ติดเชื้อโรคซาร์สจากคนไข้ที่จีน แล้วเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่เกาะฮ่องกง ทำให้แขกของโรงแรมที่เขาเข้าพักพากันติดโรคซาร์สไปถึง 16 คน จากนั้น 16 คนนี้ เดินทางต่อไปยังแคนาดา สิงค์โปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม สุดท้ายทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วโลก
สำหรับเกาหลีใต้ในอดีต เคยเกิด Super Spreader มาแล้ว กรณีผู้ป่วยโรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เดิน ไอ จาม ไปทั่วโรงพยาบาล ทำให้เกิดการแพร่ประจายของเชื้อไปยังผู้ป่วยจำนวนมาก
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันกรณี ปู่-ย่า ปกปิดข้อมูลการเดินทางไปประเทศเสี่ยง ทำให้หลานชาย ป.3 ติดเชื้อ 1 คน แต่ไม่ติดเป็น 10 คน ปู่-ย่าจึงไม่ถือเป็น Super Spreader พร้อมกับย้ำโรคโควิด-19 ประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 การแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง หากเป็นระยะที่ 3 จะต้องแพร่เชื้อจาก 1 คน ไปยังคนจำนวนมาก แต่ขณะนี้ยังไม่พบ
นพ.ธนรักษ์ บอกด้วยว่าฝ่ายกฎหมายกำลังศึกษา พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ เพื่อหาช่องเอาผิดผู้ที่ปกปิดข้อมูลการเดินทาง โดยไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะเอาผิดกับผู้ที่ปกปิดข้อมูล เช่นกรณี ปู่ ย่า มหาภัย ปกปิดประวัติเดินทางไปญี่ปุ่น กฎหมายที่มีเน้นกระบวนการควบคุมโรค เช่น ให้อำนาจสั่งผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล หรือสั่งให้ทำลายเชื้อโรคที่อยู่ในขยะติดเชื้อ รวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอการแพร่ของเชื้อโรค เช่น สั่งปิดสถานที่ จำกัดการเดินทาง สั่งให้ออกจากพื้นที่ หรือสั่งไม่ให้เข้าไปในที่ชุมชน ฝ่าผืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับ 100,000 บาท
ประเด็นผู้เดินทางไปประเทศเสี่ยงปกปิดข้อมูล เนื่องจากกลัวถูกสังคมตีตรา มองว่าการตีตรายิ่งทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อรุนแรงขึ้น การลดการตีตราต้องเกิดจากการทำงานของทุกฝ่าย โดยผู้ป่วยรับผิดชอบต่อสังคม สังคมไม่แสดงท่าทีรังเกียจ ทั้ง 2 สิ่งนี้เกิดขึ้นเชื่อว่าจะลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้ ที่สำคัญการป้องกันตนเอง โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชน ไม่เข้าใกล้ผู้ที่ไอ จาม ล้างมือบ่อยๆ คนที่มีอาชีพเสียง เช่น ขับรถแท็กซี่ ให้ใส่หน้ากากอนามัย และสุดท้ายคือกินอาหารร้อน และใช้ช้อนกลาง
ส่วนที่มีการแชร์ข้อมูลว่าผู้ที่ป่วยโควิด–19 ปอดจะเป็นพังผืด การทดสอบว่าปอดเป็นพังผืดหรือไม่ ให้ลองสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ แล้วกลั้นลมหายใจไว้ 10 วินาทีขึ้นไป หากทำได้โดยไม่มีอาการ ไอ แน่นหน้าอก หรือไม่สบายบริเวณหน้าอก แสดงว่าปอดยังแข็งแรงไม่ได้ป่วยนั้น ข้อมูลนี้ นพ.ธนรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง อย่าแชร์! วิธีการสังเกตว่าปอดเรายังปกติหรือไม่แต่ไม่เกี่ยวกับการป่วยโควิด-19 ให้คุณผู้ชมลองสังเกตว่าเราหายใจถี่ หรือมีอาการเหนื่อยหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ แสดงว่าปอดของเราไม่ปกติแล้ว ย้ำอาการหายใจเหนื่อย หายใจถี่ ไม่ได้เกี่ยวกับการป่วยโควิด-19 เป็นการตรวจเช็กสภาพปอดทั่วๆไป.-สำนักข่าวไทย