กรุงเทพฯ 27 ก.พ. – อพท.ส่งมอบแผนท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืนปี 63 – 65 ให้ 24 องค์กรนำไปช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีส่งมอบแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563 – 2565 ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ให้กับผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนนำไปบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยมีนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท.เป็นนผู้ส่งมอบ
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า แผนปฎิบัติการฯ พ.ศ. 2563-2565 เกิดขึ้นจาก อพท.ได้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2559 – 2563 (CBT Thailand) ที่รวบรวมองค์ความรู้จากผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษเข้าด้วยกัน และได้ช่วยสร้างและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นผู้ทบทวน และจัดทำขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ “การท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทยพัฒนาสู่สากลอย่างมีเอกภาพ ยกระดับมาตรฐานบนฐานการรักษาและจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างสร้างสรรค์สู่ชุมชนแห่งความสุขและยั่งยืน”
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวดังกล่าวจัดทำภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ตลอดจนสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทุกภูมิภาคของประเทศไทย และปรับเปลี่ยนชื่อแผนเป็น “แผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน” เป็นแผนระดับ 3 พร้อมเพิ่มเติมความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนทุกระดับ เพื่อผลสัมฤทธิ์ตอบเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นเอกภาพทิศทางเดียวกันของ 24 หน่วยงานภายใต้คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและองค์กรชุมชน จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
สำหรับแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563 – 2565 มีแนวคิดหลักพัฒนาตามองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ 1.แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยมีมาตรฐาน และมีคุณภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ รวมทั้งเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งในและต่างประเทศ 2.ยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า 3.เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในทุกระดับ และ 4.ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่ชุมชนแห่งความสุขอย่างยั่งยืน
นายโชติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและประธานในพิธี กล่าวว่า แผนดังกล่าวทำให้เกิดการกระจายรายได้และถือเป็นเครื่องมือพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการต่อไปคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะได้พัฒนาการแผนปฏิบัติการในแผนงานของแต่ละหน่วยงานตามบทบาทภารกิจ เพื่อบริหารจัดการแผนและของบประมาณร่วมกันภายใต้งบประมาณแผนบูรณาการสร้างรายได้ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช และนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยบูรณาการภาคีทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยตรง ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล พัฒนาชุมชนฐานรากของประเทศให้มีศักยภาพในการจัดการและดูแลทรัพยากรท้องถิ่นของชุมชนบนฐานการพึ่งพาตนเอง ความพอเพียงและยั่งยืน นำไปสู่เป้าหมายการอนุรักษ์อัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ สร้างโอกาสการมีงานทำ สร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในที่สุด.-สำนักข่าวไทย