ธปท. 25 ก.พ. – นักวิจัยเผยผู้หญิงที่จบปริญญาตรีแต่งงานลดลงร้อยละ 14 นิยมเป็นโสดมากขึ้น และมีลูกน้อยลง แนะภาครัฐเพิ่มนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและมีลูก เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต
นางศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลงานวิจัย “Gold Miss” or “Earthy Mom”? Evidence from Thailand ที่ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงไทยกับการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก โดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วง 30 ปี (2528-2560) พบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Marriage Strike” โดยผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานและอยู่เป็นโสดมากขึ้น และสัดส่วนของคนโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 2523 และเมื่อแยกตามระดับการศึกษา พบว่าหญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเป็นโสด ร้อยละ 50-60 ระดับมัธยมศึกษาโสด ร้อยละ 15-20 และระดับประถมศึกษาโสด ร้อยละ 10-15
นอกจากนี้ ยังพบปรากฏการณ์ “Gold Miss” ในประเทศไทย โดยผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้มีการเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้นและไม่มีลูกเลย ซึ่งปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง ว่าหลังแต่งงานจะต้องดูแลบ้าน เลี้ยงลูก และต้องทำงานหาเลี้ยงดูครอบครัวด้วย ส่งผลให้ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบว่าผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะมีโอกาสแต่งงานลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมหรือต่ำกว่า และหากผู้หญิงไทยกลุ่มนี้แต่งงานจะมีจำนวนลูกที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้น 1 ปี มีแนวโน้มที่จะมีลูกลดลงร้อยละ 10 ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของอัตราการเกิดลดลงในประเทศไทย และปัญหาที่จะตามมาในอนาคต คือ การขาดแคลนกำลังแรงงานของประเทศ
นอกจากนี้ ระดับการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หญิงไทยมีโอกาสที่จะพบคู่ครองที่มีความเหมาะสมกันทั้งระดับรายได้และการศึกษาน้อยลง แต่การศึกษาที่สูงขึ้นทำให้ผู้หญิงไทยได้รับค่าตอบแทนแรงงานสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้หญิงจากการลาคลอดและเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น
ด้านผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงจะเลี้ยงลูกแบบเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยต้นทุนของการเลี้ยงดูลูกที่เพิ่มขึ้น ทำให้คู่สมรสมีแนวโน้มที่จะชะลอการมีลูกหรือตัดสินใจไม่มีลูกเลย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการเลี้ยงลูก 1 คน (อายุ 0-14 ปี) มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.57 ล้านบาท โดยต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรนี้เพิ่มสูงขึ้นตามระดับรายได้ของครัวเรือน
ทั้งนี้ แนะภาครัฐควรเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัวอย่างเร่งด่วนและจริงจังผ่านนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นธรรมและเป็นระบบเหมือนกับบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิตคู่ การมีลูก การเลี้ยงดูลูก โดยมีมาตรการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเงินทุนสนับสนุนและการลดภาษี เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย