กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – การจับกุมอดีตนักการเมืองชื่อดัง พัวพันคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอาญากรุงเทพใต้ เจ้าของสำนวนคดีปลอมแปลงเอกสารการโอนหุ้น 300 ล้านบาท ของ “เสี่ยชูวงษ์” เพื่อแลกกับการไม่สั่งฟ้องคดี เมื่อวานนี้ ถือเป็นเหตุร้ายแรงที่สุดของวงการศาลยุติธรรม ทำให้วันนี้ ศาลต้องเร่งปรับมาตรการดูแลผู้พิพากษาคดีสำคัญให้มากขึ้น
เย็นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ 3-4 คน บุกอุ้มชายวัย 70 ปี พี่ชายของผู้พิพากษาประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ เจ้าของสำนวนคดีปลอมแปลงเอกสารการโอนหุ้น 300 ล้านบาท ของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ 3 คน เป็นคนลงมืออุ้มพี่ชายผู้พิพากษา ขณะลงจากรถแท็กซี่ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนอีกคนนั่งรออยู่ในรถสปอร์ตไรเดอร์ สีดำ ตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบหนึ่งในชายฉกรรจ์ อาจเป็นอดีตนักการเมืองที่ตำรวจกองปราบปรามนำมาควบคุมตัวเมื่อวานนี้
นอกจากนี้ ยังมีคลิปเสียงพยานหลักฐานสำคัญที่โทรเข้าจากโทรศัพท์มือถือของพี่ชายไปข่มขู่ผู้พิพากษา ต่อรองให้ยกฟ้องคดีโอนหุ้น แต่ผู้พิพากษาไม่ยินยอม ทำให้พี่ชายหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งได้รับการยืนยันจากตำรวจว่า พี่ชายผู้พิพากษาเสียชีวิตระหว่างการถูกอุ้ม
การเสียชีวิตของพี่ชายผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ครั้งนี้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม ซึ่งการคุกคามข่มขู่ถึงขั้นเอาชีวิต นับเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด กระทบต่ออิสระในการพิจารณาคดี และสภาพจิตใจของผู้พิพากษา ทำให้ศาลต้องเร่งปรับมาตรการดูแลความปลอดภัยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีสำคัญที่กระจายอยู่ตามศาลต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันสำนักงานศาลยุติธรรม มีกำลังตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล (Court Marshal) 35 นาย ประจำอยู่ส่วนกลาง และอีก 2 เดือนข้างหน้า จะได้อัตรากำลังเพิ่มเป็น 309 นาย ดูแลศาล 271 แห่งทั่วประเทศ แต่กำลังที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่เพียงพอดูแลความปลอดภัยให้ผู้พิพากษากว่า 5,000 คน จึงจำเป็นต้องร้องขอกำลังสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
แม้การคุกคามผู้พิพากษาในแต่ละปีเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ทุกครั้งที่เกิดมักเป็นคดีใหญ่ ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพล นอกจากการเพิ่มกำลังตำรวจศาลแล้ว ศาลต้องทบทวนแนวทางการดูแลผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีสำคัญ เช่นเดียวกับคดีการเมือง ที่จะได้รับการคุ้มกันจากหน่วยงานของตัวเอง และจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ นำตัวไปอยู่ในที่ปลอดภัย จนกว่าการพิพากษาจะเสร็จสิ้น เพื่อป้องกันปัญหาการข่มขู่ คุกคาม เอาชีวิต เพื่อแลกกับการเปลี่ยนแปลงสำนวนคำพิพากษาในคดีสำคัญ. – สำนักข่าวไทย